รากเหง้าศิลปะไทยสืบทอดมานับพันปีโดยเชื่อมโยงแหล่งอารยธรรมสำคัญหลายแหล่งในโลกทั้งจากชมพูทวีปและจากฝั่งตะวันตก อารยธรรมที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งใน เขมร พม่าและไทยมากว่าพันปี ตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ก่อเกิดเป็นรากเหง้าของศิลปะไทย จากยุคที่แสดงตัวตนในช่วงรุ่งอรุณของความเป็นไทยในสมัยทวารวดีซึ่งครอบคลุมผืนแผ่นดินอย่างกว้างขวางทั้งบริเวณ นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี และนครสวรรค์ เป็นต้น ค่อยๆ พัฒนาตัวเองอย่างช้า ๆ ผ่านยุคสมัยอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรมาสู่ยุคของความรุ่งเรืองของกรุงสุโขทัย ล้านนาและยุคทองของอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สยามได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมโยงอารยธรรมจีนและอินเดียเข้าไว้ด้วยกันมาโดยตลอด
ในเส้นทางของความเป็นไทยโดยในงานศิลปกรรมไทยเกิดจากการผสมผสานศิลปะ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมและงานช่างไทย ได้มีการควบแน่นความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาเป็นลำดับ ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างที่จะรับเอาความงดงามของอารยธรรมอื่นเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยโดยได้รับอิทธิพลจากแหล่งอารยธรรมและผู้คนที่มาติดต่อทั้งอินเดีย เปอร์เชีย จีน และตะวันตก ต่อมาเมื่อครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยแห่งการล่าอาณานิคมแพร่ขยายอำนาจไปทั่วโลก สยามได้พัฒนาการเข้าสู่ความทันสมัยแบบอารยประเทศพร้อมกับงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบตะวันตกเช่นกัน ช่างไทยได้รับเทคนิคการสร้างงานศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาใช้ มีการนำเสนอเรื่องราวของความเป็นไทยพร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่มีอยู่ในงานศิลปะซึ่งเคลื่อนคล้อยไปตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปตามลำดับจวบจนปัจจุบัน
นิทรรศการ รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ ในผลงานสะสมของเสริมคุณ คุณาวงศ์และบุตรสาว มุ่งหมายที่จะจัดแสดงถึงตัวอย่างบางส่วนของความต่อเนื่องในความงดงามดังที่กล่าวมานั้น เราทราบว่ายังมีงานที่งดงามกว่าผลงานที่จัดแสดงนี้อีกมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานจากอดีต ด้วยข้อจำกัดของสถานที่และความยังไม่ถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์ของผลงานสะสม จึงทำให้คงสามารถนำเสนอเป็นมุมมองที่อาจสร้างแรงบันดาลใจได้เพียงเท่านี้ และหวังว่าท่านทั้งหลายจะเสาะหา ศึกษาสิ่งงดงามโดยเฉพาะในอดีตของเราเพิ่มเติมในจิตใจของท่านต่อไป
ผลงานที่จัดแสดงในครั้งนี้เป็นงานสะสมของเสริมคุณ คุณาวงศ์ เหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ และวาดฝัน คุณาวงศ์ โดยอยู่ในกระบวนการพัฒนาเพื่อสะสมและจัดแสดงในบ้านพิพิธภัณฑ์ เสริมคุณ คุณาวงศ์ สืบต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-088-3888 ต่อ 1303 และ 1314 หรือ www.bangkoksculpturecenter.org และ www.facebook.com/Bangkoksculpturecenter