แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
อ่างศิลา คนพื้นที่ดั้งเดิมเรียกว่า “อ่างหิน” ส่วนการเรียกชื่ออ่างศิลา มีหลักฐานบันทึกถึงชื่อ “อ่างศิลา” เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชลบุรีได้ประทับแรมที่อ่างศิลา โดยมีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2419 พรรณนา “อ่างศิลา” ตอนหนึ่งว่า
“...เรียกชื่อว่า อ่างศิลา นั่นเพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆ เป็นศิลาดาด และเป็นสระยาวรีอยู่ 2 แห่งๆ หนึ่งลึก 7 ศอก กว้าง 7 ศอก ยาว 10 วา แห่งหนึ่งลึก 6 ศอก กว้าง 1วา 2 ศอก ยาว 7 วา เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีเห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทั้งปวงจึงให้หลวงฤทธิ์ศักดิ์ชลเขตร ปลัดเมืองชลบุรีเป็นนายงานก่อเสริมปากบ่อน้ำ มิให้น้ำที่โสโครกไหลกลับลงไปในบ่อได้ ราษฎร ชาวบ้านและชาวเรือไปมา ได้อาศัยน้ำฝนในอ่าศิลานั้น บางปีถ้าฝนตกมาก ถ้าใช้น้ำแต่ลำพังชาวบ้านก็ใช้ได้น้ำทั้งสองแห่งและบ่ออื่นๆ บ้าง พอตลอดปีไปได้ บางปีฝนน้อย ราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง 5 เดือน 6 เดือน ก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา แต่น้ำในบ่อแห่งอื่นๆ ที่ราษฎรขุดขังน้ำฝนไว้ใช้นั้น มีอยู่หหลายแห่งหลายตำบล ถึงน้ำในอ่างศิลา สองตำบลนี้แห้งไปหมดแล้ว ราษฎรใช้น้ำบ่อแห่งอื่นๆ ได้...”
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เสนาบดีกรมท่า หรือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ได้ออกมาสร้างพลับพลารับเสด็จเพื่อได้ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลอย่างอ่างศิลา ต่อมาได้สร้างอีกหลัง (หลังเล็ก) ซึ่งนี้ชาวต่างประเทศได้ไปพักอาศัยอยู่เสมอ เรียกกันในสมัยนั้นว่า “อาศรัยสถาน” และตึกทั้งสองหลังนี้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรอีกครั้งในระหว่างที่ทรงสำเร็จราชการแทนพระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสยุโรป แล้วพระราชทานนามตึกหลังใหญ่ว่า “ตึกมหาราช” ตึกหลังเล็กว่า “ตึกราชินี”
ที่มาของพิพิธภัณฑ์เนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการโดยกรมสามัญศึกษา มอบหมายให้สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดชลบุรีร่วมกับส่วนราชการ และประชาชน กำหนดโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ตึกมหาราช ตึกราชินี ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความจงรับภักดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 ปัจจุบัน “พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราช” อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลอ่างศิลา
รูปแบบทางสถาปัตยกรรม “ตึกมหาราช” นั้นรูปทรงเป็นการผสมผสานระหว่างไทย จีน และตะวันตก เป็นการก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง ไม่มีชายคายื่นจากผนังโดยรอบ ไม่มีกันสาดบังแดดฝนให้แก่หน้าต่าง ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมตรงชั้นล่างส่วนหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกเป็น ๒ ทางขึ้นสู่มุขตรงกลางอาคาร ส่วนรูปแบบของสถาปัตยกรรมของ “ตึกราชินี” เป็นที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 4 คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีส่วนระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดินที่เอียงลาด หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันหน้าออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีประตูซุ้มโค้งตรงส่วนมุขชั้นล่าง โดยมีบานประตูรูปโค้งตามกรอบ ส่วนบนเป็นกระจก ส่วนล่างเป็นบานลูกฟักไม้ หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นมะหวด ส่วนเฉลียงระเบียงลูกกรงนั้นใช้เป็นทางสัญจรและที่รับลม ซึ่งช่างไทยออกแบบตามความต้องการของชาวต่างประเทศที่จะใช้อาคารนี้เป็นที่พักผ่อนชายทะเล
ตึกราชินี ชาวอ่างศิลาเรียกว่า “ตึกแดง” ครั้งหนึ่งเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้านครเชียงใหม่ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพักรักษาพระองค์ที่นี่เมื่อพุทธศักราช 2449 ในขณะที่ทรงรักษาพระองค์อยู่นั้น ทรงเห็นว่าตำบลอ่างศิลากันดารน้ำจืด จึงมีพระราชประสงค์จ้างขุดบ่อน้ำจืดประสงค์ให้ประชาชนตำบลอ่างศิลาได้มีน้ำจืดไว้ใช้ ซึ่งยังมีเห็นในปัจจุบัน
ภายใน “ตึกมหาราช” หรือที่ชาวอ่างศิลาเรียก คือ “ตึกขาว” ทางเทศบาลเมืองอ่างศิลาได้จัดแสดงวัตถุที่เป็นวิถีทำมาหากินของชาวอ่างศิลา อย่างเป็นหมวดหมู่ คือ 1. การแกะสลักหิน สิ่งแรกที่คนจะนึกถึงก็คือ “ครกหิน” เพราะครกหินเป็นสัญญลักษณ์ของสินค้าพื้นเมืองที่นำชื่อเสียงมาให้แก่ตำบลอ่างศิลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงมีการจัดแสดงหินจากอ่างศิลา อุปกรณ์ในการสกัดครกหินตามภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา 2. การทำประมง อาชีพประมงเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวอ่างศิลาที่มีมาแต่โบราณ เป็นการประมงชายฝั่งที่จับสัตว์น้ำด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำโป๊ะ อวนลาก อวนล้อม อวนลอย เลี้ยงหอยแมลงภู่ และหอยนางรม เป็นต้น และ 3. การทอผ้าอ่างศิลา ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก ยังคงเหลือแต่คุณยายไอซ์ หรือนางสาย เสริมศรี ภูมิปัญญา “ผ้าทออ่างศิลา” มีอายุกว่า 80 ปี คุณสมบัติพิเศษของผ้าทออ่างศิลาคือ “ยิ่งซักยิ่งนุ่ม” เนื่องจากนำเส้นด้ายไปนวดกับข้าวเจ้า(ข้าวสุก)ก่อนทอ เมื่อนวดจนข้าวเจ้าเป็นเนื้อเดียวกับเส้นด้ายแล้ว จึงนำไปตากโดยไม่ต้องล้างน้ำ เมื่อเส้นด้ายแห้งแล้วจึงนำมาทอด้วยกี่กระตุก ลวดลายผ้าทอ อาทิ ลายดอกพิกุล ซึ่งเป็นลายที่ทำได้ยาก จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ปัจจุบันคุณยายไอซ์ยังถ่ายทอดและสอนวิธีการทอผ้าให้กับนักเรียน 2-3 คน แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครสามารถทำ หรือจำวิธีหรือลวดลายในการทอได้แม่นยำ หากคนรุ่นหลังยังขาดความสนใจ ผ้าทออ่างศิลา 10 ผืนที่หลงเหลืออยู่ในบ้านยายไอซ์ อาจเป็น 10 ผืนสุดท้ายที่คุณยายไอซ์ทอฝากไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม และอาจเป็นเพียงตำนานเล่าขานต่อไป ในปัจจุบัน นายเกษม อินทโชติ กำนันตำบลบ้านปึกได้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า บ้านปึก-อ่างศิลา กลุ่มอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมือง
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 038-142-100 ต่อ 104
วันและเวลาทำการ
- วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
(ติดต่อสำนักงานเทศบาลตำบลอ่างศิลา โทร.038-142 100 ต่อ 104)
- วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.30 – 16.30 น.