แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2452 โดยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุคบาโรก (Baroque) ของยุโรป เพื่อใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จมณฑลปราจีนบุรีแต่รัชกาลที่ 5 แต่ทรงสวรคตเสียก่อน จากนั้นตึกหลังนี้จึงใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จมณฑลปราจีนบุรี โดยที่ท่านเจ้าของตึกไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พำนักส่วนตัวเลยตราบจนสิ้นอายุขัย
หลังจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอสัญกรรม ตึกหลังนี้ตกเป็นของตระกูลอภัยวงศ์ และได้ถวายกรรมสิทธิ์ในตึกตลอดจนที่ดินรอบบริเวณให้กับพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ซึ่งเมื่อพระองค์เสด็จตามเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาพระราชธิดาไปประทับที่ประเทศอังกฤษ จึงประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่มณฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารและประชาชนทั่วไป และต่อมาได้โอนมาเป็นของกรมสาธารณสุข จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลปราจีนบุรี และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น เดิมเป็นตึกอำนวยการ มีการดัดแปลงชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยา และห้องผ่าตัด ชั้นบนทำหน้าที่รับคนไข้หญิง โดยตึกได้ถูกใช้งานเป็นโรงพยาบาลจนถึงปี พ.ศ.2512 เมื่ออาคารตึกอำนวยการหลังปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จ โรงพยาบาลจึงใช้ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในการประชุมสัมมนาในบางกรณี จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถาน และได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคาร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
พ.ศ.2537 โรงพยาบาลจึงจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เพื่อให้เป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิงรวบรวมการอนุรักษ์ตำรายาไทย การแพทย์ไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งมีการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากนายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการจัดตั้งมูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา(พลอย แพทยานนท์)
และได้ดำเนินการจัดส่วนแสดงนิทรรศการถาวร ประกอบด้วย
1. ห้องแนะนำการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
2. ห้องประวัติศาสตร์
3. ห้องท้องพระโรง
4. ห้องการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
5. ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี
6. ห้องไม้กฤษณา
7. ห้องหมอหลวง(หมื่นชำนาญแพทย์)
8. ห้องเก็บตำรา
9. ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร
10. ห้องประวัติโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
11. ห้องโถงกลาง
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
นิทรรศการแสดงภาพถ่ายและข้อมูลการสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมของตึกที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 037-211289 , 097-0983582 , 037-211088 ต่อ 2510
เว็บไซต์ : https://www.cpa.go.th/
วันและเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวัน 8.30 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางรังสิต-องครักษ์-นครนายก-ปราจีนบุรี เข้าเขตเมืองปราจีนบุรีมาตามทางหลวงชนบทปราจีนบุรีหมายเลข 2033 จากนั้นเลี้ยวไปตามถนนปราจีนอนุสรณ์ เป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอยู่ทางขวามือ
- รถโดยสารประจำทาง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครนายก-ปราจีนบุรี ทั้งรถโดยสารปรับอากาศและธรรมดา ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต) ทุกวัน
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีมาเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
ไม่มีข้อมูลสำหรับผู้พิการ
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ