แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเก็บรวบรวม รักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่นๆในจังหวัดกาญจนบุรี
สืบเนื่องจากจากการที่ เอช อาร์ แวน เฮเกอเร็น (H.R.Van Heekeren) นักโบราณคดีชาวฮอลันดา ซึ่งถูกจับเป็นเฉลยศึกและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัด ขณะทำงานอยู่บริเวณตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อสงครามสงบลง จึงได้นำเครื่องมือหินที่พบกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี สหรัฐอเมริกา นำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่บ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙
หลังจากนั้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๕ คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก ได้ทำการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า บริเวณที่ดินของนายลือ-นายบาง เหลืองแดง ริมแม่น้ำแควน้อย พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก ต่อมากรมศิลปากร จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้น
ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น
ห้องจัดแสดง 1 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองกาญจนบุรี สภาพภูมิประเทศ ธรณีวิทยา ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ
ห้องจัดแสดง 2 จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ได้แก่ แหล่งนายบาง นายลือ เหลืองแดง แหล่งวัดท่าโป๊ะ ถ้ำหีบ ถ้ำเม่น ถ้ำทะลุ เป็นต้น โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ประกอบด้วย ภาชนะดินเผาสามขา ภาชนะทรงคนโท ภาชนะทรงพาน เครื่องมือหินกะเทาะ ลูกปัดหิน และโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ห้องจัดแสดง 3 จัดแสดงโลงศพไม้ ที่พบจากการสำรวจขุดค้นในถ้ำ เพิงผา และบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ โลงศพไม้ทำจากท่อนไม้ขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60-80 ซ.ม. ยาว 250-300 ซม. ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียนทอง ไม้ประดู่ ฯลฯ ผ่าออกตามแนวยาวแล้วขุดเนื้อไม้ออก ตรงกลางมีพื้นที่ว่างอาจใช้สำหรับบรรจุโครงกระดูกมนุษย์ สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ส่วนหัวและท้ายมีรูปคล้ายศีรษะมนุษย์ หรือสัตว์ ปัจจุบันพบโลงไม้ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในต่างประเทศพบที่จีน พม่า และมาเลเซีย เป็นต้น
ห้องจัดแสดง 4 จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรี อายุสมัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหิน ยุคโลหะ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านดอนน้อย อำเภอบ่อพลอย แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ถ้ำพระ อำเภอไทรโยค เป็นต้น
ห้องจัดแสดง 5 จำลองการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์และสังคมเกษตรกรรม แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ และจัดแสดงภาพถ่ายโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น จี้รูปสิงโต ลูกปัดหิน ประติมากรรมสำริดรูปไก่ที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน ภาพตะเกียงโรมันสำริด พบที่โบราณสถานพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นสำคัญดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ห้องจัดแสดง 6 จัดแสดงภาพถ่ายการดำเนินงานทางโบราณคดี และจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบจากการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองสิงห์เมื่อ พ.ศ.2517-2530 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ประกอบด้วย ประติมากรรมรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวว นางปรัญาปารมิตา ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลหลากหลายชาติพันธุ์ ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด แท่นหินบดยา และชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
โคลงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน เครื่องประดับและเครื่องปั้นเดินเผา ที่ได้มากจากการขุดค้นทางโบราณคดี
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 034-540 671-2 / 081-294 9944
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/bankaomuseum
อีเมล : ban.kaomuseum@hotmail.com
วันและเวลาทำการ
วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น.
ค่าเข้าชม
อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 323 จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข 3229 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3455 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางวัดท่าโป๊ะประมาณ 1 กิโลเมตร
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ