แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
จากคำถาม… “บ้านขี้เหล็กใหญ่…เกิดขึ้นเมื่อใด? คนบ้านขี้เหล็กใหญ่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมเจ้าพ่อพญาแล จริงหรือไม่? ใคร…เป็นคนตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่?
จากการศึกษาข้อมูลร่วมกัน ของทีมนักมานุษยวิทยาเดินดินบ้านขี้เหล็กใหญ่-ชัยภูมิ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผ่านโครงการศึกษาและประยุกต์ใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาเพื่อพัฒนา พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เมื่อเดือนกันยายน 2555-สิงหาคม 2556 ได้คำตอบและเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับประวัติบ้านขี้เหล็กใหญ่ ที่มีคำเล่าลือว่า “บ้านเจ้าบ้านนาย” เป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามไว้มากมาย อีกทั้งผู้คนในชุมชนมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีระเบียบวินัยในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน มีความช่วยเหลือเกื้อกูล เมตตา เอื้ออารี ส่วนผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะให้ความเอ็นดู แนะนำสั่งสอนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จึงได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา เป็นความงดงามที่สะสมต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี
“วัดบ้านขี้เหล็กใหญ่” หรือ “วัดบริบูรณ์” ไม่มีหลักฐานการก่อตั้งวัด ว่ามีการสร้างวัดเมื่อใด มีเรื่องเล่าที่พูดต่อๆ กันมาภายในชุมชนว่าครั้งแรกของการตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการสันนิษฐานว่า หลวงปู่ไก่ สมัยนั้นบวชเป็นพระแล้วนำพาคาราวานผู้คนมานอนใต้ต้นมะขามใหญ่บริเวณวัดใน เบื้องต้น แต่ไม่สามารถนอนได้ เลยมานอนใต้ต้นขี้เหล็กใหญ่ต้นหนึ่ง พอตื่นมาเห็นสภาพพื้นที่โดยรอบเป็นชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานก็เลยตกลงตั้งรกรากอาศัย ตั้งเป็นบ้านขี้เหล็กใหญ่ขึ้นมา
นอกจากเรื่องเล่า หรือความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนแล้วยังมีคำสันนิษฐานว่าบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการตั้งชื่อมาจากการเป็นชุมชนที่เป็นกองกำลังสำคัญของเจ้าพ่อพญาแล จึงมีการหลอมและตีเหล็กเพื่อใช้ทำดาบและอุปกรณ์ในการทำศึก ทำให้มีเศษเหล็กมาก จึงเรียกว่า “บ้านขี้เหล็ก” จากข้อสังเกตของการศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาของทีมนักมานุษยวิทยาเดินดินบ้านขี้เหล็กใหญ่-ชัยภูมิ พบว่า บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการก่อตั้งบ้านเรือนในยุคสมัยใดไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการตั้งบ้านเรือนก่อนที่เจ้าพ่อพญาแลจะอพยพมาอยู่ที่โนนน้ำอ้อม เป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอยู่แล้วพอสมควร ซึ่งสังเกตได้จากผังเครือญาติและเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันมาในของหลายๆตระกูล โดยเฉพาะคำบอกเล่าของลูกหลานตระกูล “ดิเรกโภค” ที่รวบรวมคำบอกเล่าของ ย่าดี ดิโรกโภค ภรรยาของปู่หมา ดิเรกโภค ซึ่งปู่หมาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2504 และจากหลักฐานทะเบียนบ้าน พ.ศ.2599 ระบุว่าปู่หมา ดิเรกโภค เกิด พ.ศ.2423 ครั้งปู่หมาเป็นเด็กประมาณ 11-12 ปี เคยปรนนิบัติหลวงปู่ไก่ซึ่งชราภาพ อายุประมาณ 80 ปี แสดงว่าหลวงปู่ไก่ น่าจะเกิดช่วง พ.ศ.2350-2354 โดยประมาณ และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เจ้าพ่อพญาแลเป็น “พระภักดีชุมพลปกครองเมืองไชยภูมิ์” จะอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2360-2369 ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงปู่เผือก เป็นคนยุคเจ้าพ่อพญาแล มาจากเวียงจันทร์พร้อมเจ้าพ่อพญาแล ซึ่ง “หลวงปู่ไก่” เป็นคนตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ หากลองเทียบช่วงเวลาแล้วจะพบว่า หลวงปู่ไก่ น่าจะอยู่บ้านขี้เหล็กใหญ่มาก่อนหน้าที่เจ้าพ่อพญาแลจะมาตั้งถิ่นฐานที่โนนน้ำอ้อม
การบูรณาการวัดบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีมาตลอดอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของบูรณะสังขรณ์วัด จะแตกต่างกันตามยุคสมัยในอดีตภารกิจของวัด นอกจากจะเป็นศาสนาสถานแล้วยังเป็นแหล่งวิทยาการ ชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเมืองชัยภูมิ ที่มีชื่อเสียงด้านการรำขอฝน หรือที่ชาวชุมชนเรียกว่า “เจ้ย” เป็นการร้องรำที่มีเสียงดนตรี ประกอบด้วยแคน กลอง กรับ ฉาบ ฉิ่ง เป็นการร้องรำที่สนุกสนาน เพื่อเป็นการขอฝนจากฝากฟ้า อำนวยอวยชัยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต กล่าวคือ ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ทุกหลังคาเรือนจะเป็นแหล่งเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น เสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้จริงที่เคลื่อนที่ไปได้ในทุกๆ ที จึงได้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ชุมชนจะมีความผูกพันกัน โดยใช้วัดเป็นฐานในการทำกิจกรรมของชุมชนตามประเพณีตลอด 12 เดือน เช่น บุญเข้ากรรม (เดือนอ้าย), บุญคูณลาน (เดือนยี่), บุญข้าวจี่ (เดือนสาม), บุญพระเวส (เดือนสี่), บุญสงกรานต์ (เดือนห้า), บุญบั้งไฟ (เดือนหก), บุญซำฮะ (เดือนเจ็ด), บุญเข้าพรรษา (เดือนแปด), บุญข้าวประดับดิน (เดือนเก้า), บุญข้าวสาก (เดือนสิบ), บุญไต่น้ำมัน (ออกพรรษา) และ บุญกฐิน (เดือนสิบสอง)
จากงานบุญประเพณีที่โดดเด่นตลอดทั้ง 12 เดือน วัฒนธรรมด้านศิลปะ และดนตรีเป็นที่โดดเด่น ที่ยังคงหลากหลายน่าสนใจมาก คือ การเดาะกลอง ที่อดีตจะเป็นการเดาะกลองเช้า กลองแลง และกลองแห่ ท่วงจังหวะทำนองของการเดาะจะแตกต่าง เสียงเดาะกลองและลีลาของผู้เดาะกลองจะมีท่วงท่า ที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมี “เจ้ยบั้งไฟ” เป็นการร่ายรำกันในอดีตการแสดงที่มีมาแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นางรำจะแต่งกายชุดเสื้อผ้าทอมือแขนกระบอกย้อมคราม สวมซิ่นไหมน้อยแบบต่อตีน มีลายขิต เล็บฟ้อน และมีหมวก พร้อมตะกร้าน้อย ผูกคาดเอวตกแต่งสวยงาม แล้วจะเซิ้งร่ายรำพร้อมดนตรีวงแคนยาว งดงามอย่างประทับใจ เจ้ยบั้งไฟของชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ จะแตกต่างกับการเซิ้งบั้งไฟของจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ก็คือ เจ้ยบั้งไฟ จะเป็นการร่ายรำที่ใส่เล็บคล้ายกับการฟ้อนรำของล้านนา หรือล้านช้างในอดีต ส่วนวงแคน เป็นวงแคนที่มีขนาดแคนใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้นกำเนิดแคนใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงแก่เมืองชัยภูมิ มาอย่างโดยตลอด มีทั้งแคน 1 เต้า แคน 2 เต้า เป่า 2 คน และแคน 3 เต้า เป่าพร้อมกันได้ถึง 3 คน งานประเพณีสำคัญๆ ของเมืองชัยภูมิ ผู้คนจะเข้ามาชม และต่างประทับใจในความสามัคคี ของการเป่าแคนเดียวสามเต้าเป่าถึงสามคน
เรื่องราวดีๆ มีที่ชุมชนบ้านขี้เหล็ก-ชัยภูมิ ท่านสามารถเข้าชมได้ในงานบุญเดือนหก ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อพญาแล ในช่วงวันที่ 5-13 พฤษภาคม ทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณี แสดงออกถึงความเคารพ เชื่อถือ ศรัทธา และกตัญญูกตเวทีต่อเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงความรัก สามัคคี ของชาวชัยภูมิทุกภาคส่วน ซึ่งประเพณีบุญเดือนหก จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันจันทร์แรกของเดือน 6 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2557 และพิธีแห่ขบวนพานบายศรีที่ยิ่งใหญ่อลังการ ในพุธแรกของเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2557
ที่มา : http://www.banmuang.co.th/oldweb/2014/05/“ชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 081-446-9946 ติดต่อ คุณนันทวรรณ เหล่าฤทธิ์
วันและเวลาทำการ
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
จากตัวเมืองชัยภูมิใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 225 (นครสวรรค์-ชัยภูมิ) ขับมาถึงสี่แยกไฟแดงศาลเจ้าพ่อพญาแล ให้เลี้ยวซ้าย ขับตรงไปจนสุดซอยจะถึงวัดบริบูรณ์
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
-
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
-
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่จอดรถ