แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
เด็กชายคนหนึ่งรักในการสะสมอาวุธโบราณมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นป.4 นั่นไม่ใช่เรื่องธรรมดาของเด็กในวัยเดียวกัน ความรักความหลงใหลยังต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธไทยโบราณ ได้มีพิพิธภัณฑ์บ้านขุนศึก สำหรับเก็บเรื่องราววิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การรบ
บ้านไม้สองชั้นกลางซอยอรุณอมรินทร์ 24 เส้นทางเดียวกับที่จะไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ที่นี่มีอาวุธของนักรบอยู่มากมายจากหลายแหล่งที่มา จากสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ได้มาจากตลาดค้าของเก่า ชาวบ้านตามต่างจังหวัดมอบให้ จากคนที่ส่งอาวุธมาให้ซ่อมแซมแล้วมอบให้ ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้มีอยู่ถึง 3000 รายการ
จากการค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับอาวุธ อาจารย์ปริญญาพบว่า ในประเทศไทยมีข้อมูลน้อยมาก จะมีแต่กล่าวถึงอ้อมๆในพงศาวดาร บทกวี โคลงกลอน แม้แต่ตำราพิชัยสงคราม ยังกล่าวในภาพรวม ไม่ได้ลงรายละเอียดรูปพรรณสัณฐาน อย่างเช่นควรจะบอกว่าดาบยาวเท่าไหร่ ซึ่งจะต่างกับญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย เขามีการบันทึกไว้อย่างละเอียดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของอาจารย์ที่จะค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้
ในการศึกษา อาจารย์ปริญญาเน้นที่ 3 ประเด็นคือ การจัดแสดงวัตถุจากการรวบรวมอาวุธโบราณจากแหล่งต่างๆ การศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาวุธในเรื่องโครงสร้าง วัสดุ เทคนิคการผลิต และเรื่องของพิชัยสงคราม เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทัพ อาจารย์มีงานเขียนในหนังสือเรื่อง วิถีศาสตรา ปริศนา ศรัทธา และอาคมแห่งอาวุธไทย หนังสือเล่มนี้มาจากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 เดือนมีนาคม 2554 หัวข้อสัมมนาของอาจารย์คือ “วิวัฒนาการศาสตราวุธกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย”ในตอนนี้อาจารย์ก็กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ที่เดินทางไปตามแหล่งที่เคยผลิตอาวุธในสมัยโบราณ กล่าวได้ว่าชุมชนโบราณที่มีรากลึกมีอยู่ที่อยุธยา ปัจจุบันก็ยังมีคนที่ทำอาวุธอยู่ แต่ถ้าจะดูตามหลักฐานโบราณ มีการค้นพบในน้ำซึ่งมีนักประดาน้ำไปงมมาได้ ตามตลิ่งก็พบได้ บางครั้งติดมากับแหหาปลาก็เคยมี
อาจารย์ปริญญาให้สังเกตว่าในตำบล จังหวัด ในประเทศไทยสมัยก่อน จะมีบ้านช่างกันทั้งนั้น บ้านช่างเหล็ก บ้านช่างหล่อ ในยุคโบราณเวลาทำสงครามยึดบ้านยึดเมือง เขาจะเกณฑ์คนกลุ่มนี้ไปก่อน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยี แหล่งที่อาจารย์เคยไปสำรวจมีที่อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี เพชรบุรี พิษณุโลก ทางภาคเหนือจะล้ำไปทางพม่าหรือแถบเชียงตุงบ้าง การศึกษาจะพยายามหาความเชื่อมโยงกัน
ไม่เพียงแต่การรวบรวมและติดตามเรื่องราว อาจารย์ปริญญายังมีความสามารถในการตีดาบ ระเบียงสวยของพิพิธภัณฑ์คือสถานที่ตีดาบและซ่อมแซมอาวุธ การเข้าชมในห้องจัดแสดงอาจารย์ได้วางอาวุธที่รอการซ่อมแซมไว้จำนวนหนึ่ง ตามความเห็นของอาจารย์ ความชำนาญของช่างสมัยโบราณมีทักษะมากกว่าคนในยุคนี้ ดาบที่คนในยุคนี้ตีออกมาอย่างเต็มที่ ได้เพียงดาบอย่างเลวที่สุดในอดีต เป็นเพราะเทคนิคบางอย่างที่จะมีการถ่ายทอดกันทางครูบาอาจารย์ อีกทั้งช่างยุคนั้นเขาเกิดมาเพื่อจะทำอาวุธตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกได้ว่าอาวุธโบราณล้วนเกิดมาจากบรรดาสกุลช่างต่างๆ
การตกแต่งห้องพิพิธภัณฑ์ อาจารย์บอกว่าไม่ได้เป็นรูปแบบเดียว จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความพอใจของอาจารย์ ผู้เข้าชมที่เข้ามาแต่ละครั้งจะพบกับความแปลกใหม่ ได้เห็นความงามของอาวุธโบราณ ดาบ หอก ทวน ทั้งในตู้และที่แขวนไว้ตามเสาและผนังห้อง แม้ว่าบางเล่มจะมีให้เห็นเพียงบางส่วนไม่สมบูรณ์ แต่ลวดลายยังคงปรากฏอย่างเด่นชัด แสดงเรื่องราว อาจารย์แบ่งลวดลายว่าโดยหลักเป็นลายนาค ลายวชิระ และลายแบบกราฟฟิก บ้างก็เป็นจำนวนขีดที่ไม่เท่ากัน ลวดลายเหล่านี้บอกถึงความเชื่อในเรื่องของพิธีกรรม สถานะของผู้ใช้อาวุธ กรณีของอาวุธบางชิ้น ผู้ใช้อาจจะมียศไม่สูง แต่มีภารกิจสำคัญในตำแหน่งองครักษ์ที่ได้อยู่ใกล้ชิดกษัตริย์ ดังนั้นดาบที่ใช้จึงเป็นดาบชั้นดี อย่างลายนาคจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นสิริมงคล
สิ่งที่สะดุดตาอีกอันคือ หุ่นสวมชุดเกราะโบราณ อาจารย์เล่าว่าได้มาเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ มีคนงมมาจากแม่น้ำ เป็นชุดเกราะแบบเปอร์เซีย ที่เห็นเป็นชุด คุณแม่ของอาจารย์เป็นผู้ทำจำลองให้ ในเรื่องราวเดียวกัน เราจะเห็นโล่ของนักรบแขวนอยู่ มีปืนโบราณ คานหาบสัมภาระ ที่นั่งบนหลังช้าง หีบพิชัยสงคราม ซึ่งคาดว่าสมัยก่อนเวลาเดินทัพ จะมีหีบวางบนหลังช้างไปด้วย ในหีบน่าจะเป็นพวกเสื้อเกราะเสื้อยันต์
ในการจัดแสดงอาวุธโบราณ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำอาวุธไปจัดแสดงข้างนอก ตามที่รับเชิญมา งานที่ไปจัดแสดงล่าสุดคืองานโปโลช้างที่หัวหิน ในปีหนึ่งๆ จัดแสดงนอกสถานที่ประมาณ 3 งาน
การขอเข้าชมและฟังการบรรยาย อาจารย์ปริญญาจะมาด้วยตนเองทุกครั้ง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์จะนัดหมายกลุ่มผู้เข้าชมในเวลากลางคืน ช่วงสองทุ่มถึงเที่ยงคืน เพราะเป็นช่วงที่อาจารย์สะดวกมีเวลาว่าง รู้สึกว่าทำให้มีสมาธิในการพูดคุยและการฟังบรรยายมากกว่าตอนกลางวัน กลุ่มผู้เข้าชมที่มากันประมาณ 5- 10 คน บางกลุ่มถึง 30 คนก็มี ในการทำพิพิธภัณฑ์ อาจารย์ไม่ได้คาดหวังปริมาณผู้เข้าชม แต่ต้องการผู้ที่สนใจจริงๆมากกว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ศิลป์ พวกที่เรียนปริญญาโท พวกเรียนศิลปะศาสตร์การต่อสู้ คนที่เรียนกระบี่กระบอง เรียนมวยไทย บางคนพาเพื่อนฝรั่งมาดู
ความคาดหวังของอาจารย์คือ อยากให้ประเทศไทยมี war museum ที่สมบูรณ์แบบ อยากให้เกิดพิพิธภัณฑ์แบบนี้ที่อยุธยา ทุกวันนี้คนที่ไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่อยุธยา มักจะถามว่ามีดาบโบราณไหม ดาบที่ใช้รบ เพราะในประวัติศาสตร์มีเรื่องการทำศึกสงคราม แต่กลับมีเรื่องเกี่ยวกับศึกสงครามน้อย ในการเรียนรู้เด็กๆจึงเข้าไม่ถึง ทุกวันนี้นอกจากความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ใจรักแล้ว อาจารย์ปริญญายังถือว่าเป็นหน้าที่ เพื่อสืบทอดสิ่งที่บรรพชนได้ทำไว้ ให้กับลูกหลานจนกระทั่งพวกเรามีวันนี้
การเดินทาง : พิพิธภัณฑ์บ้านขุนศึกอยู่ในซอยอรุณอมรินทร์ 24 เขตบางกอกน้อย หน้าปากซอยติดกับอพาร์ตเม้นท์ชื่อเรือนอินทร์ ทางเข้าเป็นซอยเล็ก มีป้ายบอกทางว่าอีก 100 เมตรคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี พิพิธภัณฑ์บ้านขุนศึกเข้าไปประมาณ 50 เมตร เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 089-829-4111
วันและเวลาทำการ
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
ซอยอรุณอมรินทร์ 24 รถยนต์เข้าไม่ได้ ให้จอดรถใต้สะพานอรุณอมรินทร์ แล้วเดินเข้าไปประมาณกลางซอย พิพิธภัณฑ์บ้านขุนศึกตั้งอยู่ในบ้านไม้สองชั้น
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
-
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
-
สิ่งอำนวยความสะดวก
-