แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง ได้แก่ เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่เขตของกรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดยายร่ม ถนนพระรามสอง ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่
- ส่วนแรก นำเสนอประวัติความเป็นมาของ “บางกอก” อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ และเรื่องราวการขุดคลองลัดในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งทำให้เกิด คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน โดยมีการจัดแสดงตัวอย่างสายน้ำสายต่างๆ ให้ได้ชมด้วย
- ส่วนที่ 2 จัดแสดงความสำคัญของ "คลองด่าน" ลำคลองสายสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนในเขตจอมทอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักและเป็นแหล่งน้ำสำหรับการทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพของคนแถบนี้ “คลองสนามชัย” เป็นคลองที่ต่อกับคลองด่าน ในอดีตเป็นเส้นทางเพื่อการขนส่งอาหารทะเล เกลือ และถ่านไม้โกงกาง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำวัดไทร ที่เคยเป็นแหล่งรวมผลผลิตจากสวนในย่านฝั่งธนบุรี นอกจากเส้นทางคลองแล้ว ยังมีเส้นทางรถไฟจากมหาชัย ไปวงเวียนใหญ่ เพื่อการค้าขาย ส่งอาหารทะเลไปที่ตลาดน้ำวัดไทร ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยรถไฟจะออกทุกๆ 1 ชั่วโมง
- ส่วนที่ 3 นำเสนอเรื่องภูมิปัญญาของชาวสวนลิ้นจี่ อาทิ เครื่องมือไล่กระรอก ค้างคาว ที่ทำจากไม้ผ่าตรงกลาง ร้อยด้วยเชือกและนำไปแขวนเป็นระยะๆ ที่ต้นไม้ ซึ่งในตอนกลางคืนชาวสวนจะตื่นมาดึงเชือกเพื่อให้เกิดเสียงเพื่อไล่สัตว์ที่มากินผลไม้ อุปกรณ์ชนิดนี้เรียกว่า “ตะขาบ”
- ส่วนที่ 4 “จอมทองจุดกำเนิดวัดนอกอย่าง” ศิลปะแบบวัดนอกอย่างเป็นศิลปะเฉพาะ ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 โดยมีวัดราชโอรส เป็นต้นแบบ จุดเด่นของวัดนอกอย่างคือ หน้าบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ที่ทำด้วยไม้ แต่เป็นการก่ออิฐถือปูน และนิยมประดับด้วยเครื่องเคลือบสีต่างๆ มีศิลปะลวดลายแบบจีน เช่น กระถางธูป กระถางต้นไม้ ตุ๊กตาหินประดับอยู่ภายในบริเวณวัด
- ส่วนที่ 5 แบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ
-จัดแสดงเรื่องศิลปะวัฒนธรรมในเขตจอมทอง อาทิ ลิเกเด็ก ของคณะมงคลศิลป์ โรงเรียนวัดมงคลวราราม โขนจิ๋ว จากโรงเรียนอนุบาลบ้านยิ้ม โขนเด็ก โรงเรียนวัดศาลาครืน ส่วนของประเพณีที่สำคัญของเขตจอมทอง คือ การก่อเจดีย์ทรายในประเพณีสงกรานต์ วัดบางขุนเทียนใน ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ประเพณีจุลกฐิน ของวัดบางประทุนนอก และประเพณีแข่งเรือ ของวัดบางขุนเทียนกลาง
-บุคคลสำคัญของเขตจอมทอง โดยเฉพาะครูเพลงต่างๆ เช่น ครูบุญเลิศ ครูบุญยง ครูบุญยัง เกตุคง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง หลวงปู่วัดหนัง อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นที่เลื่องชื่อ และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาของชาวจอมทอง และพุทธศาสนิกชน
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
- ความสำคัญของคลองด่าน คลองสนามชัย
- เรื่องราวของสวนลิ้นจี่และส้มบางมด
- วัดนอกอย่าง ศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 02-428 0685
วันและเวลาทำการ
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09:00 – 16:30 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางสาย 68, 76, 105, 105ก, 140, 141, 142, 147, 169, 171, 172, 173
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานสำหรับจอดรถ