แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร เป็นอาคารเรือนไทยเก่าทรงปั้นหยา ที่ใช้จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ตั้งอยู่ในสำนักงานเขต พระนคร
เดิมเรือนไทยทรงปั้นหยาหลังนี้เป็นของพระยาบริรักษ์ราชา หรือ เจ๊ก รัตนทัศนีย์ ท่านรับราชการในตำแหน่งนายตำรวจหลวงรักษาพระองค์ (กระทรวงวัง) มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึง รัชกาลที่ 7 ปัจจุบันเรือนปั้นหยาได้ถูกดัดแปลงนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญๆ และชุมชนที่หลากหลายวัฒนธรรมของเขตพระนคร โดยการจัดแสดงแบ่งเป็นห้อง ๆ
ห้องแรก จัดแสดงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของท้องถิ่น แสดงภาพการต่อตั้งกรุงธนบุรี ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมาเป็นกรุงเทพมหานคร วางตามตำราของพิชัยสงครามแบบนาค ส่วนที่เป็นพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนท้องนาค ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นศุนย์กลางของเมืองทั้งหมด
ห้องที่สอง จัดแสดงวิถีชีวิตในวังชุมชนสามแพร่ง คือ แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร ถัดมาด้านข้างทางขวามือเราจะพบกับงานฝีมือวิจิตรของชุมชนชาววัง เช่นการร้อยพวงมาลัย การประดิษฐ์ งานแกะสลักผลไม้ต่างๆ
ห้องด้านซ้ายมือ หน้าบันไดอาคารชั้น 2 จัดแสดงภาพบุคคลสำคัญที่มีที่พำนักอยู่ในเขตพระนคร เช่น โชติ แพร่พันธุ์(ยาขอบ) ผู้ประพันธ์นิยาย “ผู้ชนะสิบทิศ” ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส นายเลื่อน พงษ์โสภณ ผู้ประดิษฐ์สามล้อขึ้นใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรก
ห้องข้างบันได เป็นห้องที่จัดแสดงภาพโบสถ์พราหมณ์ เทวสถานในศาสนาฮินดู รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นพร้อมเสาชิงช้า ตามอย่างประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเทวาลัยอยู่ใจกลางเมืองเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีตรียัมปวาย และพิธีโล้ชิงช้าหนึ่งในพิธีกรรมของพิธีตรียัมปวาย ซึ่งเป็นพิธีที่ปฏิบัติกันในวันขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์ ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเป็นภาพมัลติมีเดียให้ได้ชม อีกทั้งยังมีองค์จำลองของเทพ 3 องค์ ที่ประทับอยู่ในเทวสถาน คือ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เทพผู้คุ้มครองโลก หนึ่งในเทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ พระศิวะ หรือพระอิศวร เทพผู้สังหารและทำลายโลกต่างๆ และพระพิฆเนศวร หรือ คเณศ เป็นเทพที่มีอำนาจเหนืออุปสรรค และเป็นเทพที่ต้องได้รับการบูชาก่อนเทพองค์อื่น
ชั้น 2 ห้องด้านซ้ายมือ จัดแสดงภูมิปัญญา และ วิถีชีวิตของชุมชนในเขตพระนคร เช่น ชุมชนบ้านบาตร ชาวบ้านในชุมชนนี้จะผลิตบาตรพระ แต่ปัจจุบันนี้มิได้ผลิตแล้ว และตอนนี้ตระกูลที่ผลิตบาตรพระได้ย้ายไปผลิตที่โคราชแล้ว
บ้านสายรัดประคต ในตระกูลรามโกมุท ได้สืบสานการถักทอสายรัดประคตตั้งแต่โบราณมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ด้วยความประณีตในการถักทอ บ้านสายรัดประคตแห่งนี้มีโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสายรัดประคตทรงเมื่อครั้งที่พระพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ถือว่าเป็นทั้งความภาคภูมิใจ และทั้งเกียรติประวัติของชุมชน
นอกจากนี้ยังแสดงย่านต่างๆ ที่อยู่ในเขตพระนคร เช่น ทุ่งสนามหลวง ย่านสังฆภัณฑ์ ย่านพาหุรัด ย่านบางลำภู ย่านสำเพ็ง ตลาดมิ่งเมือง พร้อมทั้งจำลองสิ่งของที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของย่านต่างๆ
ห้องทางด้านขวามือ เป็นทางเดินเชื่อมต่อไปห้องพระ และห้องนอนของเจ้าของเรือนเดิม ห้องนี้จัดแสดงการคมนาคมทางน้ำ มีคลองรอบกรุงที่ขุดเพื่อเป็นคูเมืองของกรุงเทพฯ เช่น คลองบางลำภู คลองโอ่งอ่าง ภาพของเรือสุพรรณหงส์ และกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเจ้าของเรือนเดิมท่านเป็น 1 ใน 4 ของตำรวจหลวงผู้นำเสด็จ
ห้องก่อนถึงห้องพระของเจ้าของบ้านเดิม จัดแสดงเรื่องชุมชนบ้านพานถม แหล่งผลิตเครื่องถมต่างๆ ชุมชนวัดใหม่อมตรสกับการแทงหยวก ไว้ใช้ในพิธีงานศพ และยังแสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สามารถผลิตเครื่องดนตรีไทย และผลิตภัณฑ์จากใบลาน สมุดใบลานโบราณ ผลิตภัณฑ์จากหวาย เป็นต้น
ห้องด้านในสุด แสดงเรื่องราวของท่านเจ้าของบ้านเดิม คือ พระยาบริรักษ์ราชา อีกทั้งยังเป็นห้องสมุดเล็กๆ เพื่อค้นคว้าเรื่องราวของเขตพระนครเพิ่มเติมอีกด้วย
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0-2282-8563
วันและเวลาทำการ
เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่ 09:00–16:30 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
รถประจำทางสายที่ผ่าน 3, 30, 32, 33, 64, 65
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานสำหรับจอดรถ