แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์จันเสน
“เมืองโบราณจันเสน” ได้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2509 จากการถ่ายภาพทางอากาศโดยอาจารย์นิจ หิญชีระนันท์ หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาสภาพทางกายภาพของเมืองโบราณและทำการขุดสำรวจทางโบราณคดี จากการศึกษาพบว่า เมืองจันเสนเป็นเมืองโบราณที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีความชัดเจนในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในสมัยทวารวดีตอนต้นหรือประมาณ 1500 ปีล่วงมาแล้ว
พระครูนิสัยจริยคุณ(อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ถูกทำลายไปมาก จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่แตกหักเสียหายจากการลักลอบขุดมารวบรวมเก็บไว้ที่วัดจันเสนซึ่งตั้งอยู่ในเขตต่อเนื่องกับเมืองโบราณจันเสนและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยนิทรรศการจัดอยู่ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน เป็นอาคารมณฑปยอดเจดีย์บนฐานสูงมีพื้นที่ใช้สอย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนองค์ระฆัง เป็นส่วนยอดมณฑป จะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และพระพิมพ์เพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชา ส่วนมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ซึ่งจำลองจากหลวงพ่อนาค ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยลพบุรี ส่วนฐานล่าง ภายในอาคารเปิดโล่ง แบ่งส่วนแรกเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา และส่วนที่สองจัดแสดงพิพิธภัณฑ์จันเสน ประกอบด้วย
จุดที่ 1 จันเสนกับสภาพแวดล้อม จัดแสดงภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นชุมชนและเมืองโบราณจันเสน ภาพถ่ายทางอากาศสภาพทางภูมิศาสตร์โดยรอบเมืองก่อนการสร้างคลองชลประทาน
จุดที่ 2 การศึกษาทางโบราณคดีบริเวณจันเสน จัดแสดงแผนผังและภาพถ่ายการขุดค้นในช่วง พ.ศ. 2511-2512
จุดที่ 3 พัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น แม่พิมพ์ ขวานสำริด ควายดินเผา ภาชนะดินเผาลวดลายจักสาน เครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเล กำไลหิน เป็นต้น
จุดที่ 4 พัฒนาการของบ้านเมืองในยุคเหล็ก แสดงเรื่องราวการติดต่อกับประเทศอินเดียโดยรับเอาเทคโนโลยีการถลุงเหล็กมาใช้ รวมทั้งจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก เช่น มีดรูปจงอยปากนก หัวเสียม หัวธนู ใบหอก ฯลฯ
จุดที่ 5 การขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านใหม่ชัยมงคล จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ พิธีกรรมและความเชื่อในการฝังศพ
จุดที่ 6 จันเสนเมืองแรกเริ่มในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก จัดแสดงภาพถ่ายแผนผังที่ตั้งของเมืองจันเสนในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ระบบของเส้นทางน้ำในเมืองโบราณจันเสน
จุดที่ 7 จันเสนสมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิ จัดแสดงตราประทัปดินเผารูปต่างๆ จารึกอักษรปัลลวะ และตุ๊กตาดินเผารูปคน สัตว์
จุดที่ 8 จันเสนสมัยทวารวดี จัดแสดงวัตถุเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม การประกอบอาชีพ เช่น พระพิมพ์ดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูป ชิ้นส่วนธรรมจักรหิน เครื่องราง
จุดที่ 9 ภาพวาดสีน้ำมัน ได้แนวคิดมาจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบได้ภายในเมืองโบราณจันเสน เช่น ภาพคนปีนต้นตาลได้แนวคิดมาจากตราประทับดินเผารูปคนปีนต้นตาล
จุดที่ 10 วิถีชีวิตชาวจันเสนสมัยทวารวดี จัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นยุคที่เจริญสูงสุดของชุมชนจันเสนโบราณ เช่น ภาชนะดินเผา ลูกปัดสี เครื่องประดับ กำไล
จุดที่ 11 จันเสนสมัยหลังทวารวดี จัดแสดงโบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผา ซึ่งได้ทำการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเป็นยุคหลังทวารวดี
จุดที่ 12 การฟื้นฟูจันเสน จัดแสดงภาพและเครื่องมือเครื่องใช้
จุดที่ 13 ภูมิปัญญาพื้นบ้านจากคุณตาขุน ด้วงเงิน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่คุณตาขุน ได้ผลิตขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน
จุดที่ 14 จัดแสดงภาพถ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหลังจากมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง
จุดที่ 15 พระครูนิสัยจริยคุณ จัดแสดงประวัติ เครื่องอัฐบริขาร พระพิมพ์ เครื่องราง ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ฯลฯ ของพระครูนิสัยจริยคุณ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
ภาพถ่ายหวีงาช้าง
ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในอารยธรรมอินเดีย ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 10 ขุดพบที่เมืองโบราณจันเสน ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
จัดแสดงโบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี จนถึงยุคปัจจุบัน
.................................................
มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น
พิพิธภัณฑ์จันเสน
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชและพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อโอด
กลุ่มสตรีทอผ้าด้วยกี่กระตุกวัดจันเสน
วัดและอุโบสถวัดจันเสน
บึงโบราณจันเสน
ศาลเจ้าพ่อนาคราช
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0898036441 / 0928014008
อีเมล : chansen_museum@hotmail.com
วันและเวลาทำการ
วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
(มียุวมัคคุเทศก์ให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว : ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน และต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 32 จากนั้นเดินทางผ่านถนนหมายเลข 11 แล้วเข้าสู่ถนนหมายเลข 3196 มุ่งไปตำบลสร้อยทอง เดินทางต่อไปถนน 3196 จนถึงจุดหมายปลายทางที่ตำบลจันเสน
- รถไฟ : ลงที่ สถานีรถไฟจันเสน และต่อด้วย วินมอเตอร์ไซค์ หรือเดินเท้า ประมาณ 500 เมตร
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือขออนุญาต/โทรศัพท์แจ้งการนัดหมายก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 7 วันทำการ
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ
มีทางลาดสำหรับผู้พิการ
สามารถนำวีลแชร์เข้าในพิพิธภัณฑ์ได้
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีบริการลานจอดรถ
มีห้องน้ำเพียงพอต่อการใช้งาน
มีร้านอาหาร น้ำดื่ม อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว