แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย ตั้งอยู่ภายใน วัดโพนชัย โดยนำกุฏิหลังเดิมของท่านเจ้าอาวาสมาดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ กุฏิดังกล่าวสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2478 ด้วยไม้ทั้งหลังตามสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ภายในได้รวบรวมเอาวัฒนธรรมและประเพณีของด่านซ้ายเข้ามาจัดแสดงไว้ครบถ้วน
แบ่งเป็น
- ห้องเมืองด่านซ้ายและพระธาตุศรีสองรัก แสดงประวัติศาสตร์ของชาวด่านซ้าย และประวัติตำนานพระธาตุศรีสองรัก
- ห้องผีตาโขน แสดงวัฒนธรรมประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน , งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประวัติความเป็นมาของผีตาโขน การทำหน้ากากผีตาโขนในรูปแบบต่าง ๆ และคติความเชื่อเกี่ยวกับการละเล่นผีตาโขน
- ห้องสื่อวีดีทัศน์ ฉายภาพเรื่องราวของเมืองด่านซ้าย พร้อมกับนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอด่านซ้าย อาหารพื้นเมือง และบุคคลสำคัญ
- ของดีเมืองด่านซ้าย แสดงสาระความรู้ที่ชาวด่านซ้ายภาคภูมิใจ เช่น สมุนไพรพื้นบ้าน แหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลพื้นบ้านของอำเภอด่านซ้าย
- ส่วนสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขน โดยจะมีการสาธิตให้ผู้สนใจในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งสามารถลองสวมชุดและหน้ากากผีตาโขนได้
- ส่วนขายของที่ระลึก
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย(ผีตาโขน) เดิมเป็นเพียงนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีผีตาโขนในห้องสมุดประชาชน ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เข้ามาโปรโมทการท่องเที่ยว ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาชมและสอบถามข้อมูลอยู่เสมอ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ประจำการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)อำเภอด่านซ้าย จึงได้ของบประมาณจาก ททท. และจังหวัดเลย นำมาจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งขอสนับสนุนจากเจ้าอาวาสวัดโพนชัยและชุมชนในช่วงที่มีงานบุญหลวงด้วย
"ประเพณีบุญหลวง" เป็นประเพณีที่ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือน 4 (บุญเผวส) ฮีตเดือน 5 (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือน 6 (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือน 7 (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือน 8 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต ทั้งนี้ เจ้าพ่อกวน จะเป็นผู้กำหนดวันโดยผ่านพิธีการเข้าทรงล่วงหน้า โดยเริ่มจัดที่วัดโพนชัยเป็นที่แรก ลำดับที่ 2 วัดศรีสะอาด , ลำดับที่ 3 วัดโพธิ์ศรี และวัดศรีภูมิเป็นลำดับสุดท้าย
"การละเล่นผีตาโขน" เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย แสดงกันในงาน “บุญหลวง” ตามตำนานเล่ากันว่า การแห่ผีตาโขน เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน
กิจกรรมงานบุญหลวงและประเพณีการละเล่นผีตาโขน
- วันแรก อันเชิญพระอุปคุต ตั้งแต่เช้ามืดเวลาประมาณ 03.00 – 05.00 นาฬิกา โดยคณะบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ที่เตรียมเข้าพิธี ถือเดินขบวนจากวัดโพนชัย ไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่ออัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำหมันกลับประดิษฐานอยู่ที่หออุปคุต วัดโพนชัย เพื่อช่วยปราบมาร และป้องกันภัยอันตรายต่างๆ
- วันที่สอง ในตอนเช้าพิธีบายศรีให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม จากนั้นเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. จะเริ่มพิธีแห่อัญเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ปิดท้ายด้วยขบวนแห่บั้งไฟ ซึ่งระหว่างนี้บรรดาผีตาโขนน้อย ผีตาโขนใหญ่ จะเข้าร่วมขบวนแห่พร้อมด้วย ก่อนตะวันตกดินบรรดาผู้เล่นผีตาโขนน้อย ผีตาโขนใหญ่ต้องถอดหน้ากาก ถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนทิ้งลงแม่น้ำหมัน เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ของตน
- วันที่สาม การฟังเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะมานั่งฟังธรรมภายในอุโบสถวันโพนชัยตั้งแต่เช้ามืด เป็นการสร้างกุศลเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต ซึ่งจะเป็นอันเสร็จพิธีงานบุญหลวง
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : วัดโพนชัย โทร. 042-891 272 / ร้านค้าสหกรณ์พิพิธภัณฑ์ โทร. 081-954 9966 / กศน.ด่านซ้าย โทร. 042-891 094
เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/phitakhonmuseum
วันและเวลาทำการ
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทาง
จากที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2114 ผ่าน สภอ.ด่านซ้าย และตลาดด่านซ้าย เลยสะพานข้ามไปเล็กน้อยจะเห็นวัดโพนชัยอยู่ซ้ายมือ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนอยู่ภายในวัด
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ