แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
หออนุรักษ์มรดกพื้นบ้านมีระเกตุวัดสะอาด เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขนาดเล็กที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรี แม้จะมีสิ่งของจัดแสดงไม่มาก แต่ทุกชิ้นก็เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นของที่ชาวบ้านบริจาคมาด้วยจิตศรัทธาทั้งสิ้น หออนุรักษ์มรดกพื้นบ้านฯแห่งนี้กำเนิดมาจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนคือหลวงปู่จำปา ด้วยความชอบสะสมของเก่าของหลวงพ่อ เมื่อเดินทางไปเทศนาที่ชุมชนใดหรือบ้านไหนพบของเก่าที่มีคุณค่าถูกทิ้งขว้างหรือเจ้าของบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ท่านก็จะขอบิณฑบาตรกลับมาเก็บไว้ที่วัด เมื่อเริ่มเก็บสะสมของเก่าได้มากขึ้นต่อมาหลวงพ่อจำปาจึงร่วมมือกับชาวบ้านช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นมาเป็นอาคารไม้เล็กๆ หลังหนึ่ง จนเมื่อท่านมรณะภาพ เจ้าอาวาสรูปต่อมา พระสุพรรณ ปัญญวโร จึงเข้ามาดูแลต่อ และเป็นโชคดีที่ท่านสนใจเรื่องของเก่าและศิลปวัฒนธรรมเช่นกัน พิพิธภัณฑ์วัดสะอาด จึงได้เป็นรูปเป็นร่างและสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ทางซ้ายของห้องเป็นที่เก็บเครื่องกลองยาวชุดใหญ่ สำหรับแห่ในหมู่บ้านเมื่อมีงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหีบกล่องและตู้โบราณ ด้านขวาของพิพิธภัณฑ์มีสิ่งของที่น่าสนใจมากคือ ธรรมาสน์เก่า ที่แม้จะผุพังและโดนปลวกกินไปมากแล้วแต่ก็ยังคงความสวยงามของไม้แกะสลักอยู่ ทางวัดบอกว่าต้องการหน่วยงานที่จะมาให้ความรู้ในการดูแลสิ่งของจัดแสดงเช่นกัน เพราะงานไม้บางอย่างก็เริ่มผุพังและไม่ทราบว่าต้องรักษาอย่างไรจึงจะถูกวิธี ถัดมาที่มุมด้านหน้าด้านขวาเป็นกลุ่มเครื่องจักสานและเครื่องมือทอผ้า ก่องข้าวใบย่อมที่สานอย่างละเอียดปราณีต สิ่งที่น่าสนใจคือและชุดยกแก้วน้ำที่ทำมาจากไม้ไผ่ คล้ายการนำตะเกียบ เสียบเดือยกันไปมาโดยไม่ต้องใช้ตะปูหรือเชือกมัด สมัยก่อนใช้ยกขวดน้ำแก้วน้ำถวายพระหรือเลี้ยงแขกที่มาเยี่ยมเยือน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้หลวงพ่อยังชวนดูสายเชือกที่ทำจากหนังถัก หลวงพ่อสาธิตการใช้ว่าเป็นแซ่สำหรับตีม้า เพราะสมัยก่อนยังไม่มีถนนสะดวกสบาย ต้องเดินทางด้วยม้า
ลักษณะของพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารปูนชั้นเดียวเหมือนกับบ้านหลังเล็กๆ หนึ่งหลัง ห้องจัดแสดงนั้นยังไม่แบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจนเท่าไหร่ เมื่อเข้าไปภายในเริ่มชมจากตรงกลางห้องซึ่งมีตู้กระจก 3 ใบ แบ่งใส่ของที่มีค่าเช่น พระไม้แกะสลัก เครื่องทองเหลือง ไหโบราณ กระดึงวัว ควาย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ขันหมากหรือเชี่ยนหมากที่แกะสลักลายสวยงามเป็นวัฒนธรรมอีสาน เต้าปูนกินกับหมาก กากะเยียวางคัมภีร์ ด้านข้างตู้มีไหดินเผา บางชิ้นชาวบ้านเล่าว่าขุดพบตามโคกรอบๆ หมู่บ้านสันนิษฐานกันว่าที่นี่น่าจะเป็นเมืองเก่า ไหบางใบก็มีเรื่องเล่าว่ามีคนมาเข้าฝันบอกให้ไปขุดมา
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์ www.sac.or.th
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
การชมข้าวของเก่าที่จัดแสดง ถ้าเดินดูเฉยๆ ไม่มีผู้บรรยายก็ขาดอรรถรส แต่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผู้นำชมที่ชวนสนุกคือ หลวงพ่อพระอาจารย์สุพรรณ ปัญญวโร และบรรดาคณะกรรมการชุมชนทั้งหลาย หยิบจับของที่ยังสามารถเคลื่อนย้ายได้นำมาสาธิตวิธีใช้ให้ดูทุกชิ้นทำให้เห็นภาพวิธีการใช้งาน และทำให้สนุกสนานในการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้มากขึ้น หากมีโอกาสผ่านมาที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ลองแวะเข้ามาไหว้พระและชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้
ข้อมูลจาก : เว็บไซต์ www.sac.or.th
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 080-0103007
วันและเวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 น.-17.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทาง
การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง
จาก กรุงเทพ-ขอนแก่น ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง
การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางภายในจังหวัด
ไปยัง ตำบลโพนเพ็ก อำเภอมัญจาคีรี ระยะทาง 50 กม. และระหว่างจะพบกับหมู่บ้านหนองไฮ สามารถสอบถามชาวบ้านเพื่อไปยังวัดหนองไฮ
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
ไม่ต้องจองล่วงหน้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถฟรี