ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
อุทยานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมผู้ไทยบั้งไฟตะไลล้าน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของชาวบ้านกุดหว้า จำลองบ้านเรือนและเครื่องใช้ในสมัยอดีต รวมถึงวัตถุที่ใช้ในงานบุญบั้งไฟ เป็นต้น
เทศกาลบุญบั้งไฟ คือ หนึ่งในประเพณีที่มาแรงในลำดับต้นๆ แต่ที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประเพณีบุญบั้งไฟที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กับงาน "บุญบั้งไฟตะไลล้าน" ซึ่งนอกจากเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาโบราณอีสานดั้งเดิมยังเสริมด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่นอีกด้วย
ปี พ.ศ.2521 ช่างทำบั้งไฟในบ้านกุดหว้าได้คิดค้นวิธีทำ "บั้งไฟตะไล" เพื่อให้เกิดความแตกต่าง และได้เปลี่ยนเป็นประเพณีการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ประสบการณ์และความสามารถของทีมช่างบั้งไฟเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จาก "บั้งไฟตะไลหมื่น" เป็น "บั้งไฟตะไลแสน" และในที่สุดจึงได้มีการสร้างบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่หรือ "บั้งไฟตะไลล้าน"
บั้งไฟตะไลล้าน ประกอบด้วย ตัวบั้งไฟที่ทำจากท่อเหล็กความยาว6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป โดยจะมีการเจาะประมาณ 4-6 รูสำหรับจุดไฟและเป็นช่องให้แรงขับจากดินประสิวพุ่งออกมาส่งบั้งไฟตะไลลอยขึ้นไปในอากาศ แบ่งเป็นช่องสำหรับ "ส่ง" และ "หมุน" การเจาะรูต้องอาศัยประสบการณ์ของช่างเพื่อให้บั้งไฟหมุนตัวพุ่งขึ้นเป็นเส้นตรง และมี "กง" ทำจากไม้ไผ่เป็นเส้กลมคาดผ่านปลายท่อทั้งสองข้างจนมีรูปร่างเหมือนวงล้อขนาดใหญ่ ทำหน้าที่คล้ายใบพัดกำกับการหมุนของบั้งไฟตะไล
ในการทำบั้งไฟตะไลแต่ละอันช่างจะนำดินประสิวบรรจุเข้าไปในท่อเหล็ก โดยใช้แรงดันจากเครื่องอัดไฮดรอลิคค่อยๆ ดันอัดดินเข้าไป โดยต้องคอยเติมเดินประสิวเข้าไปเป็นระยะและอัดต่อจนกว่าจะเต็ม ดินประสิวที่ใช้มีส่วนผสมต่างกัน 3 ชนิดซึ่งจะเผาไหม้ตามลำดับและส่งพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
การตัดสินบั้งไฟวัดกันที่ "ความสูง" โดยการจับเวลาตั้งแต่บั้งไฟตะไลลอยขึ้นจากพื้นจนกระทั่งตกลงสู่พื้นอีกครั้ง บั้งไฟตะไลของทีมใดทำเวลาอยู่ในอากาศได้นานที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ