แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ชาวกูย ตั้งอยู่ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ สร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวกูย โดยเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น
เครื่องมือเครื่องใช้ งานศิลปหัตถกรรม มานำเสนอและจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ชุมชนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวกูย
พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราว
- ปราสาทปรางค์กู่ หรือที่ภาษากูย เรียกว่า “เถียด เซาะ โก” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูประจำชุมชนในวัฒนธรรมขอมโบราณ หลักฐานทางโบราณคดีสันนิฐานว่าเป็นลัทธิไวษณพนิกาย ประกอบด้วยปรางค์ 3 หลัง เรียงกันตามแนวเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อสร้างด้วยศิลาแลง อิฐ และหินทราย มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัวซี(C) ทางเข้าด้านทิศตะวันออกเป็นบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่
- สมุดข่อย พบที่วัดบ้านกู่เป็นสมุดโบราณที่เขียนด้วยอักษรไทยโบราณสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และอักษรขอมโบราณ อักษรไทยบันทึกเรื่องนิทานพื้นบ้าน อักษรขอมโบราณบันทึกบทสวดพระอภิธรรม บทสวดพระสหัสสนัย และการบรรยายเรื่องของการทำความดี หน้าปกยังพบภาพเขียนตำราโหราศาสตร์ ตำราพรหมชาติ การดูดวงแบบไทย ตำราต้นกล้วย การดูดวงแบบขอมโบราณ
- คัมภีร์ใบลานและผ้าห่อคัมภีร์ คัมภีร์ใบลานที่พบที่วัดบ้านกู่ จารเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน บทสวด ตำรายาสมุนไพร คาถา บทสวดต่าง ๆ และผ้าห่อคัมภีร์ใบลานที่พบเป็นผ้าปักโบราณ ด้านในประกบด้วยไม้ไผ่สานและพบเป็นผ้าไหมพื้นบ้าน
ส่วนที่ 2 อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการ
- ชาติพันธุ์กูย “กูย” เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของกัมพูชา ตอนใต้ของลาว และทางภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ เป็นพื้นที่มีชาวกูยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด คำว่ากูย คือ กูย กวย หรือโกย เรียกแตกต่างออกไปตามแต่ละถิ่น มีความหมายว่า “คน”
- ศาลปะกำและเชือกปะกำ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกูยให้ความเคารพและเซ่นไหว้ก่อนออกคล้องช้างหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับช้าง ศาลปะกำ เปรียบเสมือนเทวาลัยอันเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย
- ประเพณีวัฒนธรรมของชาวกูย อาทิ
- ประเพณีแซนเหลียน คือ การเซ่นไหว้ลานนวดข้าว(แซนเหลียน) เพื่อบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี พระแม่โพสพ เทวดาอารักษ์ ผีไร่ผีนา ให้ทราบและขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว และเป็นการทำนายถึงฤดูกาลในปีต่อไปว่าผลผลิตจะดีขึ้นหรือไม่
- ประเพณีแซนหลาว คือ การเซ่นยุ้งฉาง ชาวกูย เมื่อนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางก็จะเอาใบคูณใบยอเสียบตามเสายุ้งฉางด้านใน (ให้ค่ำคูน ให้ยกให้ยอขึ้น) ก่อนจะนำข้าวออกมาใช้บริโภคหรือจำหน่ายแจกจ่ายจะต้องมีการเซ่นไหว้ยุ้งฉางก่อนจึงจะเอาข้าวเปลือกลงจากยุ้งฉางได้
- ประเพณีแซนญะจู๊ฮ หรือเรียกว่าประเพณีเซ่นปู่ต่า เป็นประเพณีของชาวกูยที่มีมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากสมัยก่อนผู้คนมีความเชื่อเรื่องเทวดา ผีสางนางไม้และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสมัยก่อนโดยมีความเชื่อว่าก่อนที่จะทำการมงคลหรือการทำไร่นาต้องดูกำหนดวัน เดือน ปี ฤกษ์งามยามดี เพื่อมาประกอบพิธีหรือมาทำการมงคลต่างๆ ซึ่งชาวกูยสมัยโบราณเชื่อถือกันมากและประเพณีการเซ่นไหว้ดังกล่าวก็จะมีปีละ 3ครั้ง
- ประเพณีหวัวบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีตามความเชื่อของชาวกูยบ้านกู่ เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้องและทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น ๆ
- ประเพณีแซนแซงแซ เป็นประเพณีเพื่อบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อปู่พัทธเสนปราสาทปรางค์กู่ เทวดาอารักษ์ เจ้าที่ที่นาที่ไร่ ให้อำนวยอวยพรให้ทำไร่ทำนาอุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต โดยจะมีการเซ่นไหว้ขอขมาพ่อปู่พัทธเสนปราสาทปรางค์กู่ก่อน เสร็จแล้วจะมีการขอดูคางไก่ เพื่อทำนายผลผลิตที่กำลังจะลงมือปักดำ
- แซนซ๊ากชาวกูย เป็นประเพณีเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วในช่วงวันสงกรานต์
- หิ้งมอ หิ้งออ เป็นหิ้งผีบรรพบุรุษของชาวกูยในสายตระกูล ที่คอยปกปักรักษาลูกหลาน ให้อยู่เย็นเป็นสุข หากเกิดเจ็บไข้ไม่สบายขอให้หายจากเจ็บป่วย หรือหากเกิดเรื่องไม่ดีกับคนในครอบครัวก็ขอให้กลายเป็นเรื่องที่ดี เมื่อหายก็จะร่ายรำบูชา โดยจะทำการรำทั้งวันทั้งคืน และหากลูกหลายทำผิดผี ผิดประเพณี ผิดธรรมเนียม ไม่รับบูชา ไม่บูชาบรรพบุรุษ ลูกหลานทะเลาะเบาะแว้งกันไม่ลงลอยกัน ผีบรรพบุรุษก็จะลงโทษ โดยการทำให้คนในสายตระกูลเกิดเรื่องไม่ดี หรือเจ็บป่วย
- แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีบ้านศรีไผทราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ.2553 ชาวบ้านศรีไผทราษฎร์ ได้ขุดพบไหดินเผาเคลือบเนื้อแกร่ง สีน้ำตาลเทา ภายในบรรจุพระพุทธรูปเนื้อว่านและเนื้อว่านหุ้มโลหะหลายองค์ นักโบราณคดีที่เข้าตรวจสอบโบราณวัตถุสันนิฐานว่า เป็นไหศิลปะขอม นิยมผลิตกันในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๒ หรือเมื่อ ๘๐๐ – ๔๐๐ ปีมาแล้ว การนำพระพุทธรูปบรรจุภาชนะแล้วนำไปฝังดิน เป็นไปตามความเชื่อเรื่องการสืบทอดพระพุทธศาสนา สันนิฐานว่าน่าจะฝังเมื่อประมาณ ๔๐๐ – ๒๐๐ ปีมาแล้ว
- ดุงกูย (บ้านชาวกูย) บ้านดุงกูย จะสร้างจากไม้หลังคามุงจาก ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่สานควบกับใบตะแบง หรือเป็นฝาไม้ ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าบ้าน ใต้ถุนสูงมีชานหน้าบ้าน ขนาดบ้านแต่ละหลังขึ้นอยู่กับสมาชิกในบ้าน ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบอาหาร และที่พักผ่อน ชั้นล่างจะเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไหมทอผ้า เป็นต้น
- เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวกูย เครืองมือเครื่องใช้ของชาวกูย ซึ่งได้รับมอบจากชุมชนเป็นจำนวนมาก
- การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับสมาชิกในครอบครัว เป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม หญิงชาวกูยจะทอผ้าไหมไว้ใช้ โดยแม่จะเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการทอผ้าไหมด้วยกี่มือให้ลูกสาวสืบต่อกันเป็นรุ่นๆ ปัจจุบันการทอผ้าไหมเป็นงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกูย การผลิตผ้าไหมขั้นตอนจะทำด้วยมือ การแต่งกายของชาวกูยจึงนิยมแต่งกายด้วยผ้าไหมพื้นเมืองเป็นหลัก และยังนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับตนเองครอบครัว
และชุมชนอีกด้วย - อาหารและขนมพื้นบ้าน ชาวกูยรับประทานข้าวเจ้าเป็นหลัก กับข้าวส่วนใหญ่หาได้ง่ายในชุมชนและท้องไร่ท้องนา อาหารคาวมักใส่กะทิเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแตกต่างจากอีสานที่นิยมทานข้าวเหนียวกับข้าวไม่ใส่กะทิอาหารที่โดดเด่น คือ แกงละแวกะตาม(แกงมันปู) แกงเทา(สาหร่ายน้ำจืด) แกงหอย
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : โทร.091-339 2201
วันและเวลาทำการ
เปิดทำการ วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
X ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ X
ค่าเข้าชม
เข้าชมฟรี
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
ติดต่อเข้าชมนอกเวลาราชการ โทร.091-339 2201
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่จอดรถ