แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร คือนักบุกเบิกการเกษตร ผู้อุทิศชีวิตเพื่อเกษตรกรรมและเกษตรกรไทย อย่างแท้จริง โดยพระองค์ได้ทรงทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมขึ้นที่ฟาร์มบางเบิด เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นทางเลือกสำหรับอาชีพของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้ตกเป็นราชพัสดุ ให้เกษตรกรเช่าใช้จนถึงปี พ.ศ. 2532 ก่อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะขอพื้นที่ฟาร์มบางเบิดมาใช้ประโยชน์เพื่อจัดตั้งสถานีวิจัยทางการเกษตร ในปี พ.ศ. 2534 และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานฟื้นฟูผลงานและเผยแพร่เกียรติยศของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร โดยมีการจัดแสดงชีวประวัติของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และหม่อมศรีพรหมา รวมถึงประวัติการจัดตั้งสถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร และวิวัฒนาการเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการกสิกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์ผลผลิตทางการเกษตรด้วย
อาคารพิพิธภัณฑ์มีสามชั้นรวมชั้นใต้ถุนด้วย ชั้นแรก แสดงความเป็นมาของพื้นที่ฟาร์มบางเบิดตั้งแต่ยุคแรกที่ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เริ่มมาทำฟาร์ม ความตั้งใจของท่าน การทดลองทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ บริเวณนี้ได้จัดแสดงเครื่องไถดินขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งมีภาพแสดงให้ชมว่าสมัยนั้น ม.จ.สิทธิพร ท่านได้คิดเปรียบเทียบแล้วว่าการทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรนั้นเร็วแต่สิ้น เปลือง ทั้งค่าน้ำมันและดูแลรักษา จึงหันกลับมาใช้แรงงานสัตว์และคราดขนาดใหญ่ยักษ์นี้เอาไว้เทียมช้างในการไถ พรวนดิน มีเครื่องตะบันหรือเครื่องสูบน้ำจากแรงไหลของน้ำในยุคสมัยเดียวกันมาจัดแสดงไว้สองเครื่อง จำลองสภาพชีวิตของท่านว่าต้องไปดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ มีป้ายอธิบายโครงการสร้างอนุสรณ์สถานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ริเริ่มเข้ามาทำจนถึงปัจจุบัน
ชั้นสอง จัดแสดงเกี่ยวกับผลงานและชีวประวัติของท่าน ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ตั้งแต่กำเนิด การศึกษา การสมรส งาน และการพลิกเปลี่ยนมาทำการเกษตร ของใช้ส่วนตัวของท่านและสมุดทรงงาน ที่มีข้อสังเกตุว่าหากเป็นจดหมายหรือหนังสือที่เขียนที่ฟาร์มบางเบิดจะมี สัญลักษณ์นกกระแตแต้แวดและตัวหนังสือ บบ (บางเบิด) เพราะในทุ่งเลี้ยงสัตว์จะมีนกชนิดนี้อยู่มากและส่งเสียงร้องอยู่ทั่วไป หนังสือเกี่ยวกับการเกษตรของท่านที่เป็นที่รู้จัก เช่น กสิกรรมบนดอน กสิกร นอกจากนี้มีส่วนจัดแสดงประวัติของหม่อม ศรีพรหมา กฤดากรด้วย มีห้องเล็ก ๆ ที่แสดงความเป็นมาของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยมีภาพถ่ายเก่าบรรยากาศการใช้ชีวิตในฟาร์มบางเบิด และภาพสเก็ตช์ที่ใช้เปรียบเทียบเพื่อหารากฐานอาคารเดิม ใช้ควบคู่กับความทรงจำจากทายาทของท่าน หลักฐานที่สำคัญต้นไม้ใกล้ตำหนักเดิมก็คือต้นลั่นทม และต้นนุ่น เมื่อหาต้นไม้สองต้นนี้เจอจึงเริ่มขุดหารากฐานอาคาร จนพบในที่สุด และหากมองจากหน้าต่างห้องจัดแสดงนี้ลงไปจะเห็นพื้นที่เดิมของพระตำหนักซึ่งอยู่ด้านข้างนั่นเอง และมองไกลออกไปตามช่องเขา จะเห็นทะเลจากหน้าต่างด้านนี้ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นจำลองก่อนหล่อของจริงจัดแสดงในห้องนี้อีกด้วย
ชั้นสาม ในอนาคตส่วนหนึ่งจะจัดทำเป็นห้องดูดาวแต่ยังไม่สำเร็จ อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงผลงานของสถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร ทั้งเรื่องปาล์มน้ำมัน และเพาะพันธุ์ปูม้าเพื่อการอนุรักษ์
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
เหรียญรางวัลแมกไซไซ ด้านการบริการสาธารณะ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ซึ่งได้มอบแก่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2510 และของใช้ส่วนตัวของหม่อมเจ้าสิทธิพร และหม่อมศรีพรหมา ผู้เป็นภริยา ที่แสดงถึงความพอเพียงในการดำเนินชีวิตของท่านทั้งสองได้เป็นอย่างดี
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 081-868-2022
วันและเวลาทำการ
เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ 08:30 - 16:30 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านอำเภอเมือง อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนถึงศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ ตำบลไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1018 ตรงไปอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตรจะถึงสถานีวิจัยฯ
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีขอเข้าชมวันเสาร์ – อาทิตย์ กรุณาติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
-
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่จอดรถ