แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
บ่อน้ำมันฝาง หรือ แหล่งน้ำมันฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจปิโตรเลียมของประเทศไทย ที่ได้เริ่มสำรวจหาน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2464 โดยสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้บัญชาการรถไฟ โดยทำการเจาะบริเวณบ่อเจ้าหลวง
การดำเนินกิจการปิโตรเลียม ของกรมการพลังงานทหาร ที่ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ มีลักษณะการทำงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจ ขุดเจาะ ผลิต และกลั่นปิโตรเลียม ซึ่งนับเป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวของประเทศ ที่สามารถดำเนินการไปในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการแสวงหาและการนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปิโตรเลียมของประเทศอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดประวัติความเป็นมา การกำเนิด และการนำปิโตรเลียมไปใช้งาน ตลอดจนเทคนิควิธีการดำเนินการด้านปิโตรเลียมที่สำคัญ กรมการพลังงานทหาร จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ด้านปิโตรเลียม เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการฝึกศึกษาอบรม และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานต่างๆ สำหรับนิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไปให้สามารถใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
การจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ด้านปิโตรเลียม แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : ต้นกำเนิดของปิโตรเลียม แสดงลักษณะทางธรณีวิทยา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานจากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ (Forssil Energy) แหล่งกำเนิดในประเทศไทย และหุ่นจำลองสองลูกโลกที่มีการผ่าให้เห็นลักษณะชั้นดินต่างๆ รวมถึงหุ่นจำลองเครื่องขุดเจาะน้ำมัน เพื่อแสดงลักษณะการใช้เครื่องเจาะที่กำลังผ่านชั้นหินไปจนถึงชั้นที่มีปิโตรเลียมอยู่ ซึ่งเน้นไปที่การขุดเจาะบนบก ขั้นตอนการเกิดพลังงานฟอสซิล
ส่วนที่ 2 : ประวัติความเป็นมาของกิจการน้ำมันฝาง กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม นำเสนอประวัติการค้นพบน้ำมันดิบ(ปิโตรเลียม) ตั้งแต่สมัยแรกจนถึงยุคปัจจุบันภายใต้การดูแลของกรมพลังงานทหาร เพื่อให้ทราบถึงที่มาของพลังงานโลกล้านปี(Fossil) ในประเทศไทย แบ่งเป็นสมัยต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม สมัยกรมรถไฟ สมัยกรมทาง สมัยกรมเชื่อเพลิงทหารบก สมัยกรมโลหกิจ สมัยกรมการพลังงานทหาร และปัจจุบัน
ส่วนที่ 3 : การสำรวจ การผลิต และการกลั่นปิโตรเลียม นำเสนอขั้นตอนการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเคมีเทคโนโลยีของการกลั่นน้ำมัน การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมภาคเหนือตอนบน และการขุดเจาะปิโตรเลียมในอำเภอฝาง รวมทั้งบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน และประวัติความเป็นมาของกิจการน้ำมันที่อำเภอฝาง
ส่วนที่ 4 : สถิติการใช้พลังงาน นำเสนอข้อมูลวิวัฒนาการพลังงานไทย และสถานการณ์พลังงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งภายในประเทศและทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มการใช้พลังงานของประเทศไทยในอนาคต สัดส่วนของการใช้พลังงานปิโตรเลียมของแต่ละภาคทั้งภายในประเทศและทั่วโลก
ส่วนที่ 5 : พลังงานในอนาคต นำเสนอทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตที่ใช้หมดไป พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน พลังงานที่เกิดขึ้นได้ตลอด และพลังงานในอนาคตอื่นๆ อาทิ กังหันผลิตไฟฟ้า, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานน้ำ, พลังงานนิวเคลียร์, พลังงานความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ โดยมีหุ่นจำลองแสดงรถพลังงานแสงอาทิตย์, หุ่นจำลองแสดงรถพลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cells) รวมทั้งแสดงตัวอย่างและรูปแบบของพลังงานในอนาคตที่นำมาใช้เป็นรูปธรรม
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
หุ่นจำลองแสดงรถพลังงานแสงอาทิตย์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0-5396-9100
โทรสาร : 0-5396-9113
เว็บไซต์ : http://www.npdc.mi.th
วันและเวลาทำการ
เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.00 น.
เสาร์-อาทิตย์ 9.00-15.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
1.โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32(สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ หลังจากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ไปยังพิษณุโลก ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านลำปาง ลำพูน ถึงเชียงใหม่ระยะทางประมาณ 695 กิโลเมตร อีกทางหนึ่ง คือ จากนครสวรรค์ ไปตามทางหลวงหมายเลข1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก และลำปางถึงเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 696 กิโลเมตร
2.รถไฟ มีรถด่วนและรถเร็ว ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) ทุกวัน
3.รถโดยสารประจำทาง มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวันๆละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง
4.เครื่องบิน มีบริการเที่ยวบินประจำระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ