แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย เกิดจากความหลงใหลในงานศิลปะของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัยฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเชิดชูเกียรติของบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ตัวอาคารได้แนวความคิดมาจาก การนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตบรรจงเป็นลายก้านมะลิ อันแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในขณะเดียวกัน ลายฉลุ จะทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมาในอาคาร รวมทั้งแสงที่ส่องลงมาในช่วงเวลาและฤดูกาลที่แตกต่างกันยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย ภายในอาคารแบ่งส่วนจัดแสดงเป็น 5 ชั้น คือ
ชั้น G ประกอบด้วย ห้องจัดแสดงนิทรรศการ 4 ห้อง แบ่งเป็นห้องสำหรับนิทรรศการหมุนเวียน 2 ห้อง และอีก 2 ห้อง เป็นนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาประติมากรรม ได้แก่
- ห้องที่ 1 จัดแสดงผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม
- ห้องที่ 2 จัดแสดงผลงานประติมากรรมของไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม
ชั้น 2 จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิด ผลงานศิลปะล้วนสะท้อนวิถีชีวิตของยุคสมัย ทัศนะ ความคิด อุดมคติ และความเป็นไปของเหตุการณ์ในสังคม อาทิ ผลงานสื่อผสมของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรมและสื่อผสม) ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมทางสังคม รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดยศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น
ชั้น 3 เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติความเชื่อของคนไทยผ่านภาพ อาทิ ภาพ“ตำนานวังหน้า” ภาพ“นางผมหอม” นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สัก “เรือนนางพิม” ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน
ชั้น 4 จัดแสดงผลงานที่ถือเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ประกอบด้วย ผลงานทุกประเภทของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) นอกจากนี้ยังรวบรวมผลงานของศิลปินชั้นเยี่ยมซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง อาทิ ทวี นันทขว้าง, เฟื้อ หริพิทักษ์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ประกิต บัวบุศย์, อังคาร กัลยาณพงษ์
อีกฟากของอาคารเมื่อเดินทะลุสะพานข้ามจักรวาล จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพในชุด “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา โดย สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และประทีป คชบัว
ชั้น 5 รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ และห้องที่โดดเด่นที่สุดคือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 รวมถึงผลงานของ Sir Lawrence Alma Tadema และ John William Godward ผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุเกือบ 300 ปี
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 02-016-5666
โทรสาร : 02-016-5670
เว็บไซต์ : http://www.mocabangkok.com
อีเมล : info@mocabangkok.com
วันและเวลาทำการ
วันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.
(ปิดวันจันทร์)
การเดินทาง
- รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงสถานีหมอชิต แล้วต่อรถประจำทาง หรือ รถ Taxi
- รถไฟฟ้าใต้ดิน ลงสถานีพหลโยธิน แล้วต่อรถประจำทาง หรือ รถ Taxi
- รถโดยสารประจำทางสาย 29, 52, 69, 134, 187, 191, 504, 510, 555
- Google Maps: MOCA BANGKOK https://bit.ly/3hk7hq6
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องกรอกแบบฟอร์ม
ส่วนลดสำหรับกลุ่มผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯขั้นต่ำ 10 ท่าน และสูงสุด 130 ท่าน โดยจำเป็นต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ โดยส่งแบบฟอร์มที่กรอกข้อมูลครบถ้วนมาที่ info@mocabangkok.com หรือแฟกซ์มาที่ 02-016-5670
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
มี
สิ่งอำนวยความสะดวก
วันอังคาร-ศุกร์ พิพิธภัณฑ์มีที่จอดรถให้บริการ
วันเสาร์-อาทิตย์ สามารถใช้บริการอาคารจอดรถของตึกเบญจจินดา 1 ได้