แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา รายล้อมด้วยถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนผากองด้านทิศตะวันออก ถนนสุริยพงษ์ด้านทิศใต้ และถนนมหาพรหมด้านทิศเหนือ อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อพุทธศักราช 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แบบตรีมุขหรือรูปตัวที รูปแบบผสมผสานระหว่างแบบศิลปะตะวันตกและศิลปะไทย โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขออกด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด
เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงไม้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ปีพุทธศักราช 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 อย่างเป็นทางการ
ภายหลังการจัดแสดงเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2530
ภายในแบ่งส่วนการจัดแสดงเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นบน จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.ห้องโถงใหญ่ เคยเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการของเจ้าผู้ครองนคร จัดแสดงข้อมูลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดน่าน การสร้างบ้านแปงเมือง หลักฐานศิลาจารึก ลำดับเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนคร เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ภาพถ่ายโบราณ เงินตราและอาวุธ
2.ห้องปีกอาคารและเฉลียง จัดแสดงเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดน่าน แหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุจากการขุดค้นในพื้นที่เก็บกักน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเผาในจังหวัดน่าน ศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนาที่ก่อให้เกิดแนวคิดงานศิลปกรรมสกุลช่างเมืองน่าน
3.ห้องจัดแสดงงาช้างดำ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่านมาแต่โบราณ
ชั้นล่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ห้องโถง จัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์วิทยา เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของภาคเหนือ มีการจำลองลักษณะบ้านเรือน ร้านน้ำ ห้องนอน ครัวไฟ เครื่องใช้ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและตัวอย่างผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ รวมถึงเรื่องประเพณีความเชื่อ การแข่งเรือยาว และงานสงกรานต์ เป็นต้น
2.เฉลียงด้านหลังและปีกอาคาร จัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าชนต่างๆ ในจังหวัดน่าน อาทิ ไทลื้อ แม้ว เย้า ชนเผ่าตองเหลือง สุดท้ายเป็นห้องที่ระลึกและห้องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดน่าน
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
งาช้างดำ เดิมเป็นสมบัติของผู้เจ้าครองนครน่าน ลักษณะเป็นงาปลี สีออกน้ำตาลเข้ม มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" หรือประมาณ 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาข้างซ้าย เพราะมีรอยเสียดสีกับงวดชัดเจน ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดถึงประวัติความเป็นมา มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อมา
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 054-710 561 และ 054-772 777
โทรสาร : 054-772 777
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/nanmuseum
วันและเวลาทำการ
เปิดบริการวันพุธ - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 09.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม
ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท
นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
การเดินทาง
1.โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านนครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ จนถึงจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร
2.โดยรถประจำทาง มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-น่าน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารแบบธรรมดาและปรับอากาศ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9-10 ชั่วโมง
3.โดยเครื่องบิน มีบริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-น่าน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะทำจดหมายขออนุญาต/โทรศัพท์แจ้งการนัดหมายล่วงหน้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ