แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ประวัติความเป็นมา
โนนกระเบื้องเป็นชื่อเรียกกันในระหว่างบุคคลท้องถิ่น ไม่ปรากฏชื่อในแผนที่ การที่เรียกโนนกระเบื้องเพราะพื้นที่เป็นโนนสูงมีทุ่งนาล้อมรอบและได้พบเศษ ภาชนะดินเผามากมายในพื้นที่นาและสวนของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า"โนนกระเบื้อง" ชุมชนที่อยู่ที่ตำบลโนนสูง - น้ำคำ เป็นไทยอีสานที่อยู่มาดั้งเดิมและมีผู้คนจากมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เข้ามาอยู่เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำนาได้ดี ด้วยมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ มีห้วยรักนาง หนองสร้างคำ หนองโป่งนกเป้า
ลักษณะทั่วไป
สภาพทั่วไปของแหล่งเป็นเนินดินสูงประมาณ ๑ เมตร จากระดับทุ่งนาที่ล้อมรอบมีสวนกล้วยอยู่เต็มพื้นที่ แหล่งถูกลักลอบขุดค้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๑
หลักฐานที่พบ
พบหลุม ๑๐ กว่าหลุมที่ถูกลอบขุดค้นโดยการสมยอมระหว่างผู้ลักลอบ และเจ้าของพื้นที่ จากคำบอกเล่าของนายสมัย ใจธรรม ผู้เป็นเจ้าของที่ผู้ลักลอบขุดค้นได้โบราณวัตถุ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้สำริด เช่น ขวาน กำไล หอก และภาชนะดินเผาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ไปเป็นจำนวนมาก และได้ทัพพีสำริดด้วย ส่วนโครงกระดูกจะโยนทิ้งหมด ความลึกของหลุมขุด ๑.๕ - ๔ เมตร ลึก ๑ - ๒ เมตร
สาระสำคัญ
โนนกระเบื้องเคยเป็นที่อยู่ของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับบ้านเชียงตั้งแต่ปลายสมัยต้นจนยุคปลาย ประมาณ ๔,๐๐๐ - ๑,๘๐๐ ปี มาแล้ว จากการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาเทคนิคการทำลวดลาย และการตกแต่งแม้ที่โนนกระเบื้องจะไม่มีลวดลายวิจิตรพิสดารเช่นบ้านเชียง แต่เทคนิคนั้นนับได้ว่าเป็นอิทธิพลเฉพาะถิ่น นอกจากภาชนะดินเผาแล้วพบเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด เช่น กำไลขวาน ใบหอก ทัพพี สิ่งเหล่านี้พบที่บ้านเชียง ตั้งแต่สมัยต้น
เส้นทางเข้าสู่โนนกระเบื้อง
ออกจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข ๒ (อุดรธานี - ขอนแก่น ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๖ บ้านโนนสูงเลี้ยวขวาตรงบริเวณสถานีอนามัย ตำบลโนนสูง ไปตามถนน ลูกรังประมาณ ๔ กิโลเมตรถึงสวนกล้วยนายสมัย ใจธรรม จะถึงแหล่งโบราณคดีโนนกระเบื้อง
สถานที่ตั้ง
แหล่งโบราณคดีโนนกระเบื้อง ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา หมู่ ๘ ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บริเวณแหล่งอยู่ในสวนกล้วย กลางทุ่งนาเป็นที่ดินของนายสมัย ใจธรรม บ้านป่าหวาย หมู่ที่ ๑๙ ตำบลโคกสูง
อาณาเขต
ทิศเหนือ จดตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ทิศใต้ จดตำบลเสอเพลอ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก จดตำบลห้วยสามพาด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก จดตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
พบโบราณวัตถุมี
๑. ภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ ลูกกลิ้ง หินดุ แวดินเผา กระสุนดินเผา เบ้าตักโลหะ
๒. เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เหล็ก เช่น ขวานสำริด ใบหอก ขวานเหล็ก ลูกกระพรวน แหวน กำไล
๓. ลูกปัด ทำด้วยหินอาร์เกต และหินคอร์เนเลี่ยนแก้ว
๔. กระดูกมนุษย์ สัตว์
ภาชนะดินเผา จะมีลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ลายเชือกทาบผิวเกลี้ยง ลายเชือกทาบและลายปั้นแปะ ลายกดประทับและลายขูดขีด ลายปั้นแปะและลายกดประทับ ลายขูดขีดและลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในกรอบลายขูดขีด
เทคนิคในการทำจะขึ้นรูปด้วยมือ โดยใช้ไม้แผ่น (paddle) ตีด้านนอก รองรับด้วยหินดุน (Envil) ส่วนผสมดิน เนื้อในสีดำโดยตลอดเรียกว่าดินดำ มีส่วนผสมของทรายขนาด ๐.๑ ซม. ปะปนอยู่ทั่วไป พบกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ กระดูกมนุษย์เป็นกระดูกต้นขา และ กะโหลกศีรษะ กระดูก และ ฟันสัตว์ เป็นสัตว์กินพืช