แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เริ่มต้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวที่มีการย้ายเมืองนครชัยศรีจากตำบลท่านา มายังบริเวณพระปฐมเจดีย์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีพระดำริให้ทำการรวบรวมโบราณวัตถุในเมืองนครชัยศรี
โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรก ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้เคลื่อนย้ายไปไว้ในวิหารตรงข้ามพระอุโบสถ พ.ศ.๒๔๕๔ สมเด็จพระเจาบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดประทานชื่อวิหารหลังนี้ว่า “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน”
พ.ศ.๒๔๗๗ กรมศิลปากร รับเป็นสาขาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมาประกาศใช้พระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ให้พิพิธภัณฑสถานในความดูแลของกรมศิลปากรเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์”
พ.ศ.๒๕๑๐ กรมศิลปากร ได้รับงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังปัจจุบัน จึงเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารเดิมมาจัดแสดง และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๔ ใช้ชื่ออาคารหลังใหม่นี้ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์”
พ.ศ.๒๕๖๔ กรมศิลปากร ได้รับงบประมาณดำเนินการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ และเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นการนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนครปฐม ที่สอดคล้องกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงดังนี้
๑. เรื่องราวของนครปฐมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีผ่านโบราณวัตถุ และการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์จากจารึกสำคัญที่ค้นพบในเมืองนครปฐม และแนะนำภูมิศาสตร์ของนครปฐมโดยสังเขป
๒. ศาสนาและความเชื่อของชุมชนทวารวดีในนครปฐม จากหลักฐานโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณเมืองโบราณนครปฐม
๓. ความเจริญรุ่งเรืองของนครปฐมหลังจากวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง จนกระทั่งถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
- จารึกวัดพระงาม : เป็นศิลาจารึกที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดหลักหนึ่ง ปรากฏข้อความมากที่สุด และมีความชัดเจนงดงามของรูปอักษรนับตั้งแต่มีการขุดศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยวัฒนธรรมทวารวดี จารึกหลักนี้จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ๖ บรรทัด กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระราชาผู้มีความสามารถ ทรงได้ชัยชนะในสงคราม นำความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูลและบ้านเมือง
- พระพุทธรูปยืน : พระพุทธรูปองค์นี้พบในจังหวัดนครปฐม กำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ มีลักษณะเป็นแบบพื้นเมือง เป็นพระพุทธรูปยืนตั้งตรงและแสดงปางวิตรรกะ(ประทานธรรม) ทั้งสองพระหัตถ์
- ประติมากรรมประดับศาสนสถาน : พบที่ลานประทักษิณของเจดีย์จุลประโทน ประติมากรรมมีทั้งทำด้วยปูนปั้น ดินเผา และดินดิบ ทำเป็นภาพต่างๆ เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก ภาพบุคคล ภาพสัตว์ เช่น ช้าง สิงห์ ลวดลายตกแต่งศาสนสถาน
- พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี
พนัสบดี เป็นสัตว์ที่มีปากเป็นครุฑ แต่มีหูและเขาอย่างโค มีปีกอย่างหงส์ ด้วยเหตุที่ครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ โคเป็นพาหนะของพระอิศวร และหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม จึงยังไม่ทราบความหมายที่แน่นอนว่าหมายถึงอะไร
- ธรรมจักร : พบที่วัดพระงาม กำหนดอายุอยู่ในสมัยทวารวดี ราวพุทะศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ธรรมจักรมาเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เปรียบเหมือนผู้หมุนกงล้อแห่งธรรม ก่อนที่การสร้างพระพุทธรูปจะถือกำเนิดขึ้น พุทธศิลปะในยุคแรกของอินเดียใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แทนพระพุทธองค์ เพื่อเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยธรรมจักรใช้เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ตอนพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0 3424 2500 / 0 3427 0300
อีเมล : prathom_museum@hotmail.com
วันและเวลาทำการ
เปิดบริการวันพุธ-วันอาทิตย์
เวลา 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม
- ชาวไทย 20 บาท
- ชาวต่างชาติ 100 บาท
การเดินทาง
1. รถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือ ถนนบรมราชชนนี ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม
2. รถโดยสารประจำทาง
- รถตู้หน้าห้างเซนทรัลปิ่นเกล้า - ม.ศิลปากร สนามจันทร์
- รถมินิบัสหรือรถทัวร์กรุงเทพ-นครปฐม ขึ้นที่สถานีขนส่งสายใต้
3. รถไฟ : ขึ้นที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย ลงสถานีนครปฐม แล้วเดินตรงไปถึงองค์พระปฐมเจดีย์
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
**กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อน
ที่เบอร์โทรศัพท์ 034-242 500 / 034-270 300**
สิ่งอำนวยความสะดวก
- มีลานจอดรถ
- บริการนำชมสำหรับหมู่คณะ
- ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก