กำลังโหลดข้อมูล

คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

มิวเซียมไทยแลนด์

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

10 เมษายน 2567

ชื่นชอบ 697

22,777 ผู้เข้าชม

แกลเลอรี

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์

พระนครคีรีหรือเขาวัง เดิมเป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอดติดต่อกัน  ยอดสูงที่สุดสูง  95  เมตร  ภูเขานี้เดิมนั้นเรียกว่า เขาสมน(สะ-หมน) บริเวณไหล่เขาทางด้านทิศตะวันออก มีวัดแห่งหนึ่งชื่อ วัดสมณ(สะ-มะ-นะ) ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่า เขามหาสมณ  ในปี พ.ศ.2404 พระองค์ได้พระราชทานนามว่า "เขามหาสวรรค์" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "เขามไหสวรรย์"

 

รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างพระราชวังบนเขามไหสวรรย์ ในปี พ.ศ.2402 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง  บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วมบุนนาค) เป็นนายงานก่อสร้าง เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนครคีรี"

 

จากโคลงลิลิต “มหามงกุฎราชคุณานุสรณ์” พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวถึงการก่อสร้างพระนครคีรีไว้ว่า

 

นิมิตรมณเฑียรบนยอด              สิงขร

เมืองเพชรบุรีนาม                     ก่อนอ้าง

เขามหาสมณะนคร                    คิรีราชะ   ทานแฮ

สามยอดยามเยื้องสร้าง             ต่างกัน ฯ

 

และกล่าวถึงการก่อสร้างไว้คือ

 

บรมกษัตริย์ตรัสสั่งเจ้า              พระยาทหารเอกเอย

ศรีสุริยวงศ์แม่กอง                    โก่นสร้าง

เพชรพิสัยอนุชานายงาน           นวะกิจ    เกรียงแฮ

พระปลัดเคยเมื้อด้าว                 บริเตียน ฯ

 

การก่อสร้างพระราชวังสร้างบนยอดเขาทั้งสามยอด คือ ยอดเขาทางทิศตะวันตกทรงสร้างพระที่นั่งที่ประทับ,  ยอดเขาตะวันออกทรงสร้างวัดพระแก้วน้อย  และยอดกลางทรงสร้างพระธาตุจอมเพชร พระราชทานนามว่า “พระนครคีรี ”

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงบันทึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ในหนังสือความทรงจำ ว่า “...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริเห็นว่า ถึงคราวโลกยวิสัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้  และประเทศไทยอาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งขึ้นในวันข้างหน้า  จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ...วิชาความรู้ต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษจะมีอย่างไรบ้าง ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏแต่ว่าได้ทรงศึกษาวิชาคณนาวิธีอย่างหนึ่ง....ถึงตอนพระชันษาระหว่าง 40 กับ 47 ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ กับทั้งวิชาความรู้ต่างๆของฝรั่ง...”

 

จากการที่ รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาวิชาความรู้ของฝรั่งนี้ จึงทรงนำแบบอย่างของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาก่อสร้างพระราชวัง และพระที่นั่งต่างๆ ในรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม  หมู่พระอภิเนาว์นิเวศ  ในพระบรมมหาราชวัง และพระนครคีรี เป็นต้น

 

การก่อสร้างพระนครคีรีนี้ ได้นำสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคมาเป็นแบบ แต่ฝีมือช่างนั้นมีอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมจีน เช่น การปั้นสันหลังคา และการใช้กระเบื้องกาบกล้วย เป็นต้น

 

ประวัติโบราณสถานที่สำคัญบนพระนครคีรี 

 

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์  เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุดในหมู่พระที่นั่งบนพระนครคีรี ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บูรณะและดัดแปลงเป็นที่ประทับของพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ  คือ  ดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ และเจ้าหญิงอลิสซาเบต สโตล เบิร์กรอซ ซาล่า ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิก  ประเทศเยอรมนี 

 

ประกอบด้วย  ท้องพระโรงด้านหน้า เป็นห้องเสวย  ห้องออกขุนนาง  ห้องบรรทมสำหรับพระราชอาคันตุกะ  ห้องทรงพระสำราญ  และห้องสรง

 

 

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์  อยู่ติดกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์  โดยมีประตูเชื่อมระหว่างอาคาร ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างสันนิษฐานว่าเป็นที่ทำการของโขลนทวารฝ่ายใน ส่วนชั้นบนแบ่งออกเป็นสามห้อง ได้แก่ ห้องทรงพระอักษร  ห้องฉลองพระองค์  และห้องบรรทม 

 

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท  เป็นอาคารทรงปราสาทปรางค์ 5 ยอด สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสร้าง ‘ปราสาท’ แบบไทยประเพณี  และยังเกี่ยวข้องกับคติ “อินทราชา” ซึ่งเปรียบเสมือนกษัตริย์ คือ พระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ความเชื่อดังกล่าวเป็นคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของไทย อาคารตั้งอยู่บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงลูกกรงแก้วล้อมรอบ  ฐานชั้นบนสุดมุมทั้งสี่มีกระโจมไฟเป็นรูปโด่งโปร่ง

          ภายในอาคารประดิษฐานพระบรมรูป รัชกาลที่ 4 ในชุดฉลองพระองค์ ที่มีพระราชดำริขึ้นเป็นแบบใหม่ ประกอบด้วยทรงพระมาลา(หมวก)ทรงหม้อตาล,  ฉลองพระองค์เสื้อเยียรบับ,  ชายฉลองพระองค์ตัดเป็นกลีบอย่างเสื้อลายสก๊อตมีตรามหาอุณาโลม, พระภูษา(ผ้านุ่ง) โจงขอบเชิง, ทรงฉลองพระบาท  โดยเครื่องทรงชุดนี้ ได้เคยฉลองพระองค์เสด็จออกรับทูตานุทูตมาแล้ว

          อาจกล่าวได้ว่า พระบรมรูป เป็นประติมากรรมชิ้นแรกของสยามที่ปั้นขึ้นในขณะที่บุคคลผู้เป็นแบบของประติมากรรมยังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งมูลเหตุของการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดจากการเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับชาติตะวันตก 

 

พระที่นั่งราชธรรมสภา  เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประตูและหน้าต่าง ทำรูปแบบเป็นวงโค้ง ตกแต่งด้วยเสาปลอมติดผนัง หัวเสาเป็นแบบศิลปะกรีกแบบไอโอนิค  เหนือหัวเสาทำลวดลายลักษณะรูปร่างคล้ายถังไม้  ด้านบนมีดอกไม้ อาวุธ และริ้วผ้าพันเป็นปูนปั้น 

 

หอชัชวาลเวียงชัย  เป็นอาคารในผังกลม  ภายในมีบันไดเวียนขึ้นไปด้านบน ชั้นบนรอบนอกเป็นระเบียงที่ล้อมรอบด้วยลูกกรงแก้ว ทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว หลังคาทำเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้ง  ภายในโดมห้อยโคมไฟ รัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นที่ส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาว เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์

 

พระที่นั่งสันถาคารสถานและกลุ่มอาคารในบริเวณ 8 หลัง

เป็นหมู่พระที่นั่งขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางขวามือของพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประทับฝ่ายใน  ต่อมาใช้สำหรับเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่มาพักบนพระนครคีรี โดยพระที่นั่งสันถาคารหรืออาคารประธาน ตั้งอยู่กึ่งกลางและมีอาคารประกอบ 7 หลังตั้งอยู่โดยรอบ  ภายในอาคารประธานกึ่งกลางสันนิษฐานว่า เดิมเป็นห้องรับแขก และสองข้างเป็นห้องนอน ด้านที่ติดกับโรงโขนมีมุขยื่นออกไปเป็นที่ประทับทอดพระเนตรนาฏศิลป์

 

โรงมหรสพ หรือ โรงโขน  ตั้งอยู่ทางขวามือของศาลาด่านกลางและทางขึ้นศาลาด่านหน้า เวทีลักษณะเป็นอัฒจันทร์กว้าง 8 เมตร ยาว 27 เมตร ก่อกำแพงทึบเป็นฉากกั้นกลาง มีประตู 2 ข้าง ส่วนหลังฉากขนาดเท่าเวที เป็นที่แต่งตัวและที่พักของนักแสดง ด้านหน้าเวทีเป็นลานดินกว้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์  ตลอดจนข้าราชการและราษฎรชาวเพชรบุรีได้มีโอกาสชมละครราชสำนัก

 

พระธาตุจอมเพชร  เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบพระราชนิยม  ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกกลางของพระนครคีรี แต่เดิมเป็นที่ตั้งของเจดีย์วัดอินทคีรี  ซึ่งขณะนั้นมีสภาพทรุดโทรม รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าให้ก่อเจดีย์องค์ใหม่ครอบทับเจดีย์องค์เดิม  ในส่วนบริเวณส่วนองค์ระฆังเป็นโถงโล่ง สามารถเดินเข้าไปได้ 

 

เขตพุทธสถานวัดพระแก้ว(น้อย)  ประกอบไปด้วย พระปรางค์แดง  สันนิษฐานว่าเป็นการจำลองแบบปราสาทตาพรมและมีอาคารศาลาราย 3 หลังตั้งอยู่โดยรอบ  ถัดขึ้นไป คือ หอระฆัง  ด้านหลัง คือ พระสุทธเสลเจดีย์  สร้างจากการตัดหินจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยช่างชาวจีน และนำมาประกอบบนพระนครคีรี 

 

บริหารจัดการ

กรมศิลปากร

ประเภทพิพิธภัณฑ์

ชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ซี่งตั้งอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันตกของพระนครคีรี(เขาวัง) พระบรมรูปฯในชุดฉลองพระองค์ที่มีพระราชดำริขึ้นเป็นแบบใหม่ และเครื่องทรงชุดนี้ได้เคยฉลองพระองค์เสด็จออกรับทูตานุทูตมาแล้ว  ประกอบด้วย  พระมาลา(หมวก)ทรงหม้อตาล  ฉลองพระองค์เสื้อเยียรบับ  ชายฉลองพระองค์ตัดเป็นกลีบอย่างเสื้อลายสก๊อตมีตรามหาอุณาโลม  พระภูษา(ผ้านุ่ง)โจงขอบเชิง  ฉลองพระบาท

           พระราชอิริยาบถยืนตรงโดยพระเพลา(ขา) ขวาก้าวออกมาด้านหน้า ขณะที่ลักษณะของพระพักตร์ตอบ ทำให้เห็นรอยพระสิรัฐิ(กะโหลกศีรษะ) และเห็นรอยโหนกปราง  พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบปลายพระแสงดาบลงพื้น  พระหัตถ์ซ้ายทรงหนังสือ ประทับยืนอยู่ในใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรเก้าชั้น)  มุมพระโอษฐ์ขวาตกลงมามีรอยย่นระหว่างพระปราง(แก้ม) และพระโอษฐ์

 

มูลเหตุของการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เกิดจากการเชื่อมความสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับชาติตะวันตก กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2402 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Emperor Napoleon III) ได้ส่งประติมากรรมรูปเหมือนของพระองค์และจักรพรรดินีอูจินี เดอ ม็องจู (Empress Euginie de Montijou) มาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ รัชกาลที่ 4

ในปี พ.ศ.2406 ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นโดย เอมิล ฟรังซัว ซาตรูส (Emile Franois Chatrousse) ประติมากรชาวฝรั่งเศส โดยประติมากรรมดังกล่าว เป็นประติมากรรมพระบรมรูปสัมฤทธิ์เคลือบทองแบบลอยตัว ในพระราชอิริยาบถยืน(ตริภังค์) โดยพระเพลาข้างหนึ่งรับน้ำหนักของพระสรีระ  พระวรกายบิดเบี้ยวเล็กน้อย ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อนอก ทรงพระภูษาโจงและทรงพระมาลาสก๊อต  ส่วนรายละเอียดของพระพักตร์ รวมทั้งลวดลายรอยยับของเครื่องทรงและเครื่องประดับมีลักษณะเหมือนจริงเป็นธรรมชาติ  ตรงส่วนฐานสลัก “Chatrousse 1863 (ตรงกับปี พ.ศ.2406) Paris”  พระบรมรูปองค์นี้ประติมากรน่าจะได้รับแรงบันดาลใจและรูปแบบจากพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งไปถวายพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

แผนที่

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

เลขที่ 97 ถนนคีรีรัฐยา ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 76000
โทรศัพท์ : 032-401 006, 032-425 600
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/pranakornkeereemuseum/
อีเมล : kaowang_petch@hotmail.com

วันและเวลาทำการ

เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.

(ไม่เว้น วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์)

ค่าเข้าชม

  • ชาวไทย 20 บาท
  • ชาวต่างชาติ 150 บาท

 

นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี(เขาวัง) โดยการเดินขึ้น

หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า(เปิด 08.30-16.30 น.) มีอัตราเสียค่าบริการดังนี้

แบบขึ้น-ลง

  • ชาวไทย: ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 15 บาท
  • ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 15 บาท

แบบเที่ยวเดียว

  • ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 30 บาท / เด็ก 10 บาท
  • ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 15 บาท

กรณีที่เด็กสูงไม่เกิน 90 ซม. ขึ้นรถรางฟรี(รถรางฯ เปิด 08.30-16.30 น.)

การเดินทาง

1.โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ

  • ใช้ทางหลวงหมายเลข 35(ถนนพระราม 2 หรือธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปากท่อ เข้าจังหวัดเพชรบุรี ระยะทางประมาณ 123 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชม.
  • ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ระยะทางประมาณ 166 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

 

2.โดยรถประจำทาง มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว

3.โดยรถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี ไปยังจังหวัดเพชรบุรีทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2.5-3 ชั่วโมง

เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

เนื้อหาสำหรับเด็ก

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

รับบัตรเครดิต

รับ
ไม่รับ

รับจองล่วงหน้า

กรณีสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน ที่มีความประสงค์จะเข้าชมเป็นหมู่คณะ

สามารถส่งแบบฟอร์มแจ้งการขอเข้าชมล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันเข้าชม 

กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า โทรศัพท์ 032-425 600

หรือ ติดต่อโดยตรงได้ที่ห้องสำนักงาน ชั้น 2 อาคารรถรางไฟฟ้า 

ข้อมูลสำหรับผู้พิการ

พิพิธภัณฑ์ มีรถวีลแชร์และลิฟท์สำหรับรถวีลแชร์

โดยมีเจ้าหน้าที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นผู้ควบคุมและอำนวยความสะดวก ให้กับผู้เข้าชม

ที่เป็นผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ที่ต้องใช้บริการเข้าชมหมู่พระที่นั่ง

 

*สำหรับผู้เข้าชมที่มีความประสงค์จะใช้รถวีลแชร์ สามารถติดต่อได้ที่

อาคารประชาสัมพันธ์ (ทิมดาบราชองครักษ์)*  

 

 

 

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีลานจอดรถบริเวณหน้าอาคารรถรางไฟฟ้า

2

แบ่งปัน

กิจกรรม

10 เม.ย. 2567

16 เม.ย. 2567

10 เมษายน 2567
ขอเชิญร่วมกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ “สรงน้ำพระ สักการะพระคเณศ”  ณ ทิมดาบองครักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี วันที่ ๙ – ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. สรงน้ำพระพุทธรูป และสักการะพระพิฆเนศ เพื่อความเป็นสิริมงคล  ร่วมแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าลายดอกไม้สีสันสดใส   เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. (ไม่เว้น วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูล โทรศัพท์ : ๐๓๒-๔๐๑ ๐๐๖, ๐๓๒-๔๒๕ ๖๐๐ FB: พระนครคีรี กรมศิลปากร / Phra Nakhon Khiri, The Fine Arts Department

20 ก.ย. 2566

30 ก.ย. 2566

20 กันยายน 2566
ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย “ยลโฉม (หน้า) ประติมา ทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรี” โดยเป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบ ณ ทุ่งเศรษฐี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี    จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 – 30 กันยายน 2566  ณ ทิมดาบองครักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครีคีรี   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี  เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. (ไม่เว้น วันหยุดราชการและวัดหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูล โทร. 032-401 006 หรือ 032-425 600

25 ก.ค. 2566

03 กรกฎาคม 2566
ขอเชิญร่วมสดับพระธรรมเทศนา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา ตามรอยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันธรรมสวนะ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2566   วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม (แรม 8 ค่ำ เดือน 8) วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม (แรม 15 ค่ำ เดือน 8) วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8) ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ณ หอจตุเวทปริตพัจน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3242 5600  Facebook : https://www.facebook.com/phranakhonkhiri  

06 มี.ค. 2566

29 มี.ค. 2566

02 มีนาคม 2566
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ขอเชิญร่วมสดับพระธรรมเทศนา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา ตามรอยธรรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันธรรมสวนะ ตลอดเดือนมีนาคม 2566   วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) วันอังคารที่ 14 มีนาคม (แรม 8 ค่ำ เดือน 4) วันอังคารที่ 21 มีนาคม (แรม 15 ค่ำ เดือน 4) วันพุธที่ 29 มีนาคม (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5)   ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป  ณ หอจตุเวทปริตพัจน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี   ติดต่อสอบถาม โทร. 0-3242-5600  Facebook: พระนครคีรี กรมศิลปากร / Phra Nakhon Khiri, The Fine Arts Department

13 ก.พ. 2566

27 ก.พ. 2566

06 กุมภาพันธ์ 2566
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี  ขอเชิญร่วมสดับพระธรรมเทศนา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา ตามรอยธรรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันธรรมสวนะ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2566   วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ (แรม 8 ค่ำ เดือน 3) วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ (แรม 14 ค่ำ เดือน 3) วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4) ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป  ณ หอจตุเวทปริตพัจน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 032-425 600 Inbox Facebook: พระนครคีรี กรมศิลปากร / Phra Nakhon Khiri, The Fine Arts Department
pav

/

next

พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง