แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณเหมืองแร่เก่าท่อสูง ในเนื้อที่ 400 ไร่ อาคารของพิพิธภัณฑ์มีรูปแบบของศิลปะชิโนโปรตุกีส 1 ชั้นครึ่ง ผสมผสานกับลายปูนปั้นอย่างกลมกลืนและงดงาม จึงมีการเรียกอาคารนี้ว่า “อังมอเหลานายหัวเหมือง”
ภายในมีการจัดนิทรรศการแบบกึ่งมีชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ การจัดแสดงภายนอกอาคาร(Out door) ประกอบด้วย รางเหมืองแร่, ลานเรียนรู้กลางแจ้ง, ขุมเหมือง, เครื่องมือและอุปกรณ์การทำเหมืองแร่
ส่วนที่สอง คือ เปิดม่านฟ้าเกาะพญามังกร(การจัดแสดงภายในอาคาร) มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการทำเหมืองแร่ดีบุกและวีถีชาวเหมือง มีห้องจัดแสดงนิทรรศการใน "อังมอเหลา" (ตึกนายหัวเหมืองหรือบ้านเศรษฐี) ประกอบด้วยห้องต่างๆ ดังนี้
1.ห้องนายหัวเหมือง(ห้องเศรษฐีเจ้าของเหมืองแร่) นำเสนอวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างชิโนโปรตุกีสในจังหวัดภูเก็ต การจัดตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านนายหัวเหมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมไทย จีน ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ประดับตกแต่งบ้าน โต๊ะบูชาหน้าพระ และการตกแต่งหน้าพระที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตไทยจีนในจังหวัดภูเก็ต
2.ห้องเรืองรองธรณี จัดแสดงระบบสุริยะจักรวาล การกำเนิดโลก สิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของมนุษยชาติ รวมทั้งการเกิดหินดินแร่ที่เป็นที่มาของการทำเหมืองแร่ต่างๆ
3.ห้องปฐพีเหมืองแร่ จัดแสดงนิทรรศการประวัติของเหมืองแร่ชนิดต่างๆ เช่น เหมืองแล่น เหมืองปล่อง เหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด และเหมืองเรือขุด
4.ห้องเปลี่ยนแปรแร่ธาตุ แสดงขั้นตอนการถลุงแร่ โรงงานถลุงแร่ดีบุก และผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากแร่ดีบุก ตัวอย่างแร่ดีบุกต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำความสะอาดแร่ สาธิตการทำความสะอาด รวมทั้งให้มีการทดลองฝึกปฏิบัติการแปรรูปด้วย
5.ห้องชาญฉลาดนาวาชีวิต นำเสนอการย้ายถิ่นฐาน การติดต่อค้าขายทางเรือสำเภา เป็นท่าเรือที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงโชคที่เกาะภูเก็ต ฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมมท้องถิ่น เช่น ประเพณีพ้อต่อ ประเพณีกินผัก วิถีชีวิตชุมชนกระทู้ในปัจจุบัน
6.ห้องวิถีชีวิต แสดงวิถีชีวิตย้อนอดีต ความเป็นอยู่ของชุมชนไทยจีนสมัยที่เหมืองแร่รุ่งเรือง มีตลาดร้านค้าต่างๆ ศาลเจ้า การละเล่นพื้นบ้านและอาชีพต่างๆ ของชุมชนไทยจีน
7.ห้องเยี่ยมยลวัฒนธรรม นำเสนอความเจริญด้านอารยธรรม การแต่งกาย ความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรมการก่อสร้าง ตัวอย่างเสื้อผ้าการแต่งกายแบบบาบ๋าย้อนอดีตประเพณีวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ไทยจีน จดหมายเหตุ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่
8.ห้องเลิศล้ำภูมิปัญญา บริการห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น มีหนังสือทุกประเภทให้ศึกษาค้นคว้าและวิจัยท้องถิ่น มีห้องคอมพิวเตอร์บริการอินเตอร์เนตแก่นักศึกษา นักท่องเที่ยว นักวิจัย และประชาชนทั่วไป
ที่มา : แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑ์,2561
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 076-510 115 / 076-321 073 / 088 – 766 0962-3
โทรสาร : 076-510 115
เว็บไซต์ : http://www.kathucity.go.th
อีเมล : phuketmining2010@gmail.com, info@kathucity.go.th
วันและเวลาทำการ
ทุกวัน เวลา 09.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม
- คนไทย – ผู้ใหญ่ 50 บาท / เด็ก 20 บาท
- ต่างชาติ – ผู้ใหญ่ 100 บาท / เด็ก 50 บาท
การเดินทาง
โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ(ทางหลวงหมายเลข 35) แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ถึงจังหวัดภูเก็ต
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถฟรี