แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
กลุ่มอาคารรูปร่างเรียบง่ายที่แฝงตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น หรือที่เรียกขานว่า "ศูนย์ศิลป์สิรินธร" แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยความคิดริเริ่มของ ครูสอนศิลปะ "ครูสังคม ทองมี" คุณครูศิลปะแห่งโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นแหล่งผลิตผลงานทางศิลปะของนักเรียนที่มีคุณภาพ และสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
กว่าที่ศูนย์ศิลป์ฯแห่งนี้จะก่อกำเนิดอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้นั้น ครูสังคม ต้องใช้เวลาต่อสู้ถึง 20 ปี เริ่มด้วยการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องศิลปะในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ เรื่องของการส่งผลงานของเด็กๆ เข้าร่วมการประกวดต่างๆ จนได้รับรางวัลมากมายรวมทั้งการต่อสู้ในหลักการ เพื่อให้รัฐบาลผ่านงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งก็ใช้เวลาอีก 3 ปีเต็ม
"ศูนย์ศิลป์สิรินธร" เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มก่อสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2536 ด้วยเงินงบประมาณ 11 ล้านบาท ด้วยความมุ่งหวังที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก ๆ และผู้รักศิลปะในพื้นที่แถบภาคอีสานได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เพื่อเสริมความรู้ที่นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนในตำรา
ศูนย์ศิลป์สิรินธรแห่งนี้จัดสร้างบนเนื้อที่ทั้งหมด6ไร่ ในบริเวณโรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อาณาบริเวณโดยรอบแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติของสวนป่าตัวสถาปัตยกรรมได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด โดยฝีมือการออกแบบของบริษัทแปลน อาร์คิเต็ค จำกัด
อาคารทั้งสี่หลังของศูนย์ศิลป์ฯออกแบบเป็นรูปทรงเรียบง่าย ทว่าแฝงไว้ด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยมมองดูคล้ายกับงานประติมากรรมที่ช่วยประดับประดาให้สวนป่าโดยรอบมีความงดงาม
อาคารแต่ละหลังมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้สอย ทุกอาคารมีส่วนเชื่อมโยงถึงกันด้วยทางเดินที่เปรียบเสมือนแกนเชื่อมระหว่างอาคาร ถ้าหากมีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อกิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถสร้างต่อกันไปตลอดในแนวเดียวกัน
อาคารหลังที่หนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์ศิลปะเด็กและเยาวชนซึ่งภายในเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินเด็กนับตั้งแต่ยุคที่ครูสังคมได้ไปบุกเบิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2521 ชิ้นงานที่จัดแสดงนั้นคัดเลือกจากเด็กๆนับพันคนที่เคยสร้างชื่อเสียงไว้ จัดเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อเป็นเครื่องหมายเตือนใจคนไทยและคนท้องถิ่นถึงความสามารถของเด็กไทย เพื่อบอกกล่าวความเป็นมาของการเรียนการสอนศิลปะของสถานศึกษาแห่งนี้
อาคารหลังที่สอง จัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ และผู้สนใจ โดยการจัดแสดงก็จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี
ในอาคารหลังที่สามเป็นห้องประชุมสัมมนา อภิปราย บรรยายและการให้ความรู้เรื่องศิลปะเด็กและจัดอบรมครูศิลปะโดยเครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ภายในอาคารและการตกแต่งก็ได้ความร่วมมือมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น อาคารแห่งนี้จึงมีชื่อตามผู้สนับสนุน
ส่วนอาคารสุดท้ายอาคารหลังที่สี่ได้จัดเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่องานศิลปะ หรือใช้ทำ กิจกรรมการอบรมหรือการประชุมที่มีภาคปฏิบัติ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 089-862-5806, 042-841409
โทรสาร : 042-841795
เว็บไซต์ : http://www.srisongkram.ac.th/th/
อีเมล : https://www.facebook.com/236490406408005/
วันและเวลาทำการ
จันทร์ - ศุกร์ 08.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
จากจังหวัดเลย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 201 (สีคิ้ว-เชียงคาน) ขับมาที่อำเภอวังสะพุง ถึงสี่แยกวังสะพุงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-วังสะพุง) ขับตรงมาประมาณ 1 กิโลเมตร โรงเรียนศรีสงครามวิทยาอยู่ขวามือ
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
-
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
-
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่จอดรถ