แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา เป็นโครงการที่ริเริ่ม
โดย นายนิคม มูสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2545 โดยกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กรมศิลปากรใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาวิจัยฯ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับดินแดนฝั่งชายทะเลอันดามัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และธรรมชาติวิทยา อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และเสริมสร้างทรัพยากรท่องเที่ยวให้ยั่งยืน อันจักส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน
ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ประกอบด้วยอาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยแบบพื้นถิ่นภาคใต้ประยุกต์ เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยาและทรงมลิลา มุงกระเบื้องว่าว มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร 5 อาคาร คือ
- อาคาร 1 : อันดามัน...ที่สุดแห่งใจ จัดแสดงเรื่องราวของ "อันดามัน" เพื่อเป็นบทนำเข้าสู่เนื้อหาให้เห็นภาพรวมกว้างๆทั้งด้านลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ และมหัศจรรย์ของอันดามัน โดยมีนิยามนามของจังหวัดในอันดามัน ดังนี้ พังงา...ดินแดนแห่งป่าเกาะ , ระนอง...ประตูสู่อันดามัน , ภูเก็ต...ไข่มุกแห่งอันดามัน , กระบี่...มรกตอันดามัน , ตรัง...ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หากทรายงาม และ สตูล...สงบ สะอาด ธรรมชาติ บริสุทธิ์
- อาคาร 2 : เส้นทางสายไหมทางทะเล จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตามลำดับพัฒนาการของพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ โดยมีการจัดแสดงภาพและหุ่นจำลองสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพภูมิประเทศ ประกอบเสียงบรรยาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อาทิ วิถีชีวิตมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปะถ้ำ เส้นทางการค้า เมืองท่าโบราณ การผลิตลูกปัด การเข้ามาของชาวต่างชาติ การเผยแพร่ศาสนา ศิลปกรรมและวัฒนธรรม
- อาคาร 3 : ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม จัดแสดงเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับคนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆของชาวอันดามัน อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่หลากหลาย เช่น ซาไก ชาวเล ชาวเมือง และคนต่างแดน กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนาความเชื่อ ภาษา ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยมีรูปจำลอง วิถีชีวิต การละเล่น และอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความหลากหลายที่รวมอยู่ของคนที่อาศัย ณ ดินแดนอันดามัน
- อาคาร 4 : เขา ป่า นา เล และโลกสีคราม จัดแสดงความสวยงามทางธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบการให้ความรู้ทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และธรณีวิทยา สอดคล้องกับพื้นที่จริงด้านหลังอาคารเป็นพื้นที่ป่าชายเลนในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารแันอุดมสมบูรณ์ และยังแสดงข้อมูลทางพฤกษศาสตร์เกี่ยวกับพืชท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
- อาคาร 5 : สวรรค์อันดามัน แสดงบทสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับอันดามันทั้งหมดด้วยความสวยงาม ทั้งทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และธรรมชาติ อันเป็นที่มาของคำว่า "สวรรค์อันดามัน" โดยใช้การสันทนาการเพื่อผอนคลายให้ผู้เข้าชมได้ถ่ายภาพร่วมกับภาพจำลองบรรยายกาศและสถานที่งดงามในมุมต่างๆ พร้อมทั้งการนำเสนอความงามของอันดามันที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มในห้องฉายภาพยนตร์
และในส่วนท้ายเป็นข้อมูลพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงมีต่อดินแดนอันดามัน รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยเสด็จฯ เยือนดินแดนอันดามันในวาระต่างๆ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 076-481 263-4 / 081-326 2549 / 091-034 4913
โทรสาร : 064-054 1879
เว็บไซต์ : http://www.andamancenter.go.th/frontpage
อีเมล : andamancenter@gmail.com
วันและเวลาทำการ
เปิดทุกวัน (เว้นวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา 09:00 - 15:30 น.
ค่าเข้าชม
- นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ คนละ 10 บาท
- เด็ก คนละ 20 บาท
- ผู้ใหญ่ คนละ 50 บาท
- ชาวต่างชาติ คนละ 120 บาท
อัตราการใช้ห้องประชุม
- ส่วนราชการ วันๆ ละ 8,000 บาท / ครึ่งวัน 5,000 บาท
- เอกชน วันๆ ละ 15,000 บาท / ครึ่งวัน 10,000 บาท
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ