แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
พ.ศ.๒๕๕๑ กรมอู่ทหารเรือจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเรือนขนมปังขิงที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระราชทานพื้นที่ให้กรมทหารเรือสร้างโรงงานกรมอู่หลวงและที่ทำการของกรมทหารเรือ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์รวมในการเก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางช่าง เครื่องจักรกล และเอกสารอันทรงคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมสร้างเรือ อีกทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านการออกแบบและต่อเรือ ตลอดจนเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการต่อเรือรบ เรือพระที่นั่ง งานอู่เรือ และอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ รวมทั้งผลงานทางช่างที่เป็นมรดกทางปัญญาของกรมอู่ทหารเรือ
การจัดแสดง
- ชั้นบน แสดงประวัติศาสตร์พื้นที่ การสร้างเรือรบและเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย
๑. จากราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง
แสดงประวัติศาสตร์พื้นที่อู่เรือหลวง ซึ่งเดิมเป็นจวนของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่กรมทหารเรือ (ในขณะนั้น) เพื่อสร้างโรงงานกรมอู่หลวงและที่ทำการของกรมทหารเรือ
๒. จากอู่เรือหลวงสู่กรมอู่ทหารเรือ
จัดแสดงความสำคัญของงานอู่เรือกับการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเล พัฒนาการของกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งปัจจุบันมีอู่เรือในความรับผิดชอบ ๓ แห่ง คือ อู่ทหารเรือธนบุรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
๓. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กับงานนาวาสถาปัตย์
จัดแสดงพระปรีชาสามารถและมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านการต่อเรือ ทรงออกแบบและต่อเรือใบมด ซูเปอร์มด ไมโครมด และทรงกีฬาแล่นใบ แนวพระราชดำริที่พระราชทานให้กองทัพเรือต่อเรือรบขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๑ ขยายผลสู่ ชุดเรือ ต.๙๙๑ และชุดเรือ ต.๙๙๔ ตามลำดับ
๔. การเสริมสร้างสมุททานุภาพให้กองทัพเรือ
แสดงพัฒนาการด้านการต่อเรือของกรมอู่ทหารเรือ จากเรือไม้เป็นเรือเหล็ก กรรมวิธีต่อเรือจากการย้ำหมุดเป็นการเชื่อมประสาน เทคโนโลยีการต่อเรือแบบบล็อก ขั้นตอนและกระบวนการสร้างเรือรบ ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเรือ
๕. การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ
ความเป็นมาของการต่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขั้นตอนการต่อเรือ การอนุรักษ์และซ่อมเรือพระราชพิธี
- ชั้นล่าง แสดงการซ่อมทำเรือรบ และผลงานทางช่างที่สำคัญ แบ่งเป็น ๒ ส่วน
๑. ทำเรือให้พร้อมรบ
จัดแสดงกระบวนการซ่อมทำเรือรบ ผลงานการซ่อมทำเรือสำคัญ ๆ และงานฝีมือช่างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
๒. อู่เรือและอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ
จัดแสดงความก้าวหน้าของอู่เรือเอกชน ความสำคัญของอุตสาหกรรมต่อเรือและพาณิชยนาวีของประเทศ ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอธิปไตยของชาติทางทะเล
รางวัลพระราชทาน
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๗ ประเภทอาคารสถาบันและอาคารอนุรักษ์ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คัดเลือกโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ
- สมุดบันทึกพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และลายพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระราชทานในสมุดเยี่ยม เมื่อคราวเสด็จฯ มาทรงวางกระดูกงูเรือและปล่อยเรือลงน้ำ
-
ค้อน ขวาน ปุ่มกด และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้ในพิธีวางกระดูกงูเรือและพิธีเรือปล่อยเรือลงน้ำ
- เรือรบจำลอง เรือพระที่นั่งจำลอง
- เครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือช่าง ที่ใช้ในการซ่อมสร้างเรือ
สิ่งที่น่าสนใจ โบราณสถานและสถานที่สำคัญภายในกรมอู่ทหารเรือ
- อุโบสถวัดวงศมูลวิหาร โบราณสถานภายในกรมอู่ทหารเรือ
- อู่แห้ง สถานที่ปฏิบัติงานซ่อมสร้างเรือ
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 02-475 5368 / ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ 094-496 4809
โทรสาร : 02-475 5369
เว็บไซต์ : http://www.rtnd-museum.com/
อีเมล : rtndmuseum.navy@gmail.com
วันและเวลาทำการ
- เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ
- วันจันทร์ – วันศุกร์ (หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
- เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๕.๓๐ น.
- ทำหนังสือขอเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ สัปดาห์
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางสาย 40, 57
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
**รับคณะเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ โดยทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าชมเป็นการล่วงหน้า อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ตามตััวอย่าง
ที่อยู่...............................
วันที่........เดือน.................พ.ศ........
เรื่อง ขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา
เรียน ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
ด้วย ชื่อคณะเยี่ยมชม ..........................................มีความประสงค์ขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ในวันที.......เดือน................พ.ศ........ตั้งแต่เวลา.........ถึง............. จำนวนผู้เช้าชม..............คน โดยมอบให้ นาย/นาง/นางสาว................ หมายเลขโทรศัพท์................เป็นผู้ประสานรายละเอียด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
ลงชื่อ ..........................................
(ชื่อตัวบรรจง................................)
ชื่อหน่วย......(ถ้ามี)
โทร........................ โทรสาร.........................