แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 ชื่อเรียก “ศรีเทพ” เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
พื้นที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันยังเปรากฎร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่ง หรือ ทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน มีสิ่งที่น่าสนใจ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนอาคารจัดแสดง
- ศูนย์บริการข้อมูล เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองโบราณศรีเทพ รวมทั้งการอนุรักษ์ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในประกอบด้วยห้องประชุมสำหรับบรรยายสรุปก่อนการเข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ ห้องนิทรรศการถาวรด้วยสื่อทันสมัย ห้องสร้างเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ส่วนจำหน่ายหนังสือ เครื่องดื่มและของที่ระลึก และอาคารปฏิบัติการทางโบราณคดีที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และบริเวณใกล้เคียง
- อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2531 โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2000 ปี ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมือง โดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้าง เป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด
- อาคารวิชาการและห้องสมุด เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและห้องสมุด
ส่วนอุทยาน
- ปรางค์สองพี่น้อง เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐ สององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่ จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร(พระอิศวรอุ้มนางปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)
- เทวรูปพระอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทรายอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 รวมทั้งหมดถึง 6 องค์ ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐอเมริกา จำนวน 1 องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี จำนวน 1 องค์ และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จำนวน 1 องค์) ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือในพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ อันจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน
- ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรมีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตก ในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก
- เขาคลังใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไป มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตก ยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน
- ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวอำเภอศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปีในระหว่างวันขึ้น ๒ - ๓ ค่ำ เดือน ๓ (ปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์) ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสองหลัง อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ สำหรับองค์เจ้าพ่อนั้นเดิม ได้ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ ต่อมาองค์เจ้าพ่อนั้นได้ถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการ และ ความเชื่อเพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนถึงปัจจุบัน
- เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองอยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู
- ปรางค์ฤาษี เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 056-921 322
โทรสาร : 056-921 317
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/parameters/ความรู้ทั่วไป/อุทยานประวัติศาสตร์/item/อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
วันและเวลาทำการ
เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม
- คนไทย 20 บาท
- ชาวต่างชาติ 100 บาท
- ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม ให้แก่
- พระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่น
- นักเรียน นิสิต และนักศึกษาในเครื่องแบบนักเรียน
- นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยประสานงานล่วงหน้า
- แขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (กรุงเทพฯ – สระบุรี – เพชรบูรณ์) แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211 หน้าที่ว่าการอำเภอศรีเทพ อีกประมาณ 9 กิโลเมตร
- รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 1 ชั้น 2 และรถโดยสารประจำทางธรรมดา จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2 จตุจักร) ซึ่งวิ่งขึ้น-ล่องตลอดทั้งวัน ลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ(บ้านกลาง) และต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีมาเป็นหมู่คณะกรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ