แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
กรมศิลปากร ได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน ประเภทศิลปะสมัยใหม่ขึ้น ในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย และได้รับมอบอาคารโรงกษาปณ์ จากกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ.2517 เพื่่อจัดตั้งเป็น "หอศิลปแห่งชาติ" มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ ของศิลปินผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดหอศิลปแห่งชาติ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2520 หลังจากนั้น หอศิลปแห่งชาติ ได้ปิดปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อให้ตรงตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป" และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2521 ต่อมาใน พ.ศ.2526 กรมธนารักษ์ ได้มอบอาคารและที่ดินเพิ่มเติมให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ดำเนินการปรับปรุงขยายพื้นที่อาคารจัดแสดง เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ศิลปินตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้เข้าชมได้อย่างครบถ้วน ตามหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะระดับชาติ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอาคารผลิตเหรียญกษาปณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงนั้นประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและทำการค้ากับต่างชาติ จึงมีความจำเป็นในการใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยน และเนื่องด้วยโรงกษาปณ์แห่งเดิมในพระบรมหารราชวัง ซึ่งผลิตโดยใช้เครื่องจักรไอน้ำคับแคบและเริ่มทรุดโทรม รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์แห่งใหม่ขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 6 พระองค์ เรียกว่า "วังสะพานเสี้ยว" พื้นที่บริเวณริมคลองคูเมืองเดิม ใกล้วัดชนะสงคราม โดยโปรดให้รื้อถอนพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้าที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ พระราชทานเงินค่ารื้อถอน และสร้างวังใหม่ให้แก่เจ้านายทุกพระองค์
อาคารโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งที่ 3 (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในปัจจุบัน) ได้รับการออกแบบก่อสร้างโดย นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) สถาปนิกและวิศวกรประจำราชสำนักสยาม โดยจำลองรูปแบบของสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค (Neo-classicism) แนวทางนีโอปัลลาเดียน (Neo-palladianism) มาใช้เป็นหลักในการออกแบบ เนื่องจากลักษณะทางสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมแบบนี้ มักให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศของความเคร่งขรึม สง่างาม จึงเหมะสมสำหรับใช้กับอาคารราชการประเภทที่ทำการกระทรวง ศาล โรงเรียน โรงงาน และสถานทูต เป็นต้น
สถาปนิกออกแบบอาคารเชื่อมโยงต่อกันเป็นกลุ่มอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ล้อมรอบลานโล่ง โดยได้แรงบันดาลใจการวางผังจากแบบแปลนโรงงานเครื่องจักรเมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ จุดเด่นอยู่ที่มุขกลางด้านหน้าของอาคารที่มีหลังคาทรงจั่วแบบวิหารกรีก ผนังหน้าจั่วประดับตราแผ่นรูปดินปูนปั้น ล้อมรอบด้วยครึ่งวงกลมประกอบลายพันธ์พฤกษา ผนังอาคารชั้นบน แบ่งเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนเจาะช่องหน้าต่างเป็นโครงสร้างโค้งครึ่งวงกลม(semi-circular arch) แต่ไม่ประดับซุ้ม ผนังฉาบปูนเดินร่องลึกเป็นรูปช่องสี่เหลี่ยมใหญ่เรียงกันเลียนแบบลายหินก่อ(Rustication) มุมอาคารมีการเน้นลายหินอ่อนให้นูนเป็นเสาอิงที่ไม่มีหัวเสา
จากจุดกำเนิดที่เป็นโรงกษาปณ์สิทธิการ จนมาเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในปัจจุบันอาคารอายุกว่า 113 ปี ได้รับการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน ซ่อมแซม ในส่วนขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ใช้สอยที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนั้น คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมที่สง่างามสะท้อนภูมิปัญญาของสถาปนิกและวิศวกร ที่ได้กลั่นกรองสร้างสรรค์ จัดระเบียบความงามอย่างมีแห่งผล (Rational organization) ตามหลักของนีโอปัลลาเดียน จึงกลายเป็นหนึ่งในเพชรน้ำเอกของสถาปัตยกรรมสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนทุกวันนี้
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
นิทรรศการถาวร จัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีและผลงานร่วมสมัย นำเสนอให้เห็นวิวัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างผลงานที่สำคัญและทรงคุณค่าต่อวงการศิลปะในประเทศไทย อาทิ ภาพวาดพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จิตรกรรมเนื่องในพุทธศานา(ภาพพระบฏ) ภาพพงศาวดาร ภาพวรรณคดี ตลอดจนผลงานของศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย แบ่งเป็น
- ห้องเฉลิมพระเกียรติ แสดงจิตรกรรมภาพฝีพระหัตถ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
- ห้องจิตกรรมไทยประเพณี จัดแสดงจิตรกรรมไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับสืบทอดมาตั้งแต่อดีต โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวในวรรณคดีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงภาพจิตรกรรมของขรัวอินโข่ง จิตรกร ผู้เรืองนามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างเอกแห่งกรุงสยาม ผลงานของบรมครูทั้ง 2 ท่านเน้นการนำเรื่องราวอุดมคติของไทยผสมผสานกับเทคนิคแบบตะวันตก ซึ่งเป็นเสมือนต้นแบบและแนวทางสำคัญสำหรับช่างไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน
- ห้องจิตรกรรมแบบตะวันตก จัดแสดงภาพจิตรกรรมไทยที่ผสมผสานกับรูปแบบจิตรกรรมตะวันตก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเปิดรับวิทยาการจากประเทศตะวันตกมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า หากแต่ยังคงรักษาความเป็นไทยเอาไว้ ในช่วงเวลานี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้งในปี พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2449 เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและศึกษาความเจริญทางศิลปวิทยาการของประเทศเหล่านั้นด้วย
- ห้องประติมากรรม จัดแสดงผลงานประติมากรรมในยุคของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 ส่งผลให้รัฐบาลมีบทบาทในการสนับสนุนและอุปถัมภ์ศิลปกรรมแขนงต่างๆ แทนราชสำนัก และเป็นช่วงที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ศิลปินชาวอิตาเลียน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม(มหาวิทยาลัยศิลปากร) และเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับวงการศิลปะไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย
นิทรรศการหมุนเวียน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จัดนิทรรศการหมุนเวีนยตลอดปี เดือนละ 2-4 นิทรรศการ ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานทัศนศิลป์ทุกประเภท ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะ เป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : ฝ่ายธุรการ เบอร์ 02 282 8525 และ 02 282 0637 / ฝ่ายวิชาการ เบอร์ 02 282 2639
โทรสาร : 02-282-8525
เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/TheNationalGalleryBangkok
อีเมล : national.gallery.th@gmail.com
วันและเวลาทำการ
เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
(หยุดวันจันทร์ - วันอังคาร, วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศของรัฐบาล)
ค่าเข้าชม
- คนไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท
- นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาอื่น และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถแท็กซี่
- ทางที่ 1 จากบางลำภูเข้าสู่ ถนนจักรพงษ์ ผ่านหน้าวัดชนะสงครามชิดขวาเข้าถนนเจ้าฟ้า
- ทางที่ 2 ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ชิดซ้ายลงสะพานเข้าถนนเจ้าฟ้า
- ทางที่ 3 จากสนามหลวง ผ่านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติเข้าถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถึงสี่แยกเลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนจักรพงษ์ ผ่านหน้าวัดชนะสงคราม ชิดขวาเข้าถนนเจ้าฟ้า
รถโดยสารประจำทางสาย 3, 6, 9, 15, 19, 30, 32, 33, 43, 53, 64, 123, 507
เรือด่วนเจ้าพระยา: ท่าพระอาทิตย์ เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชมจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
มีห้องน้ำและทางลาดสำหรับผู้พิการ
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีพื้นที่สำหรับจอดรถ