แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ตรอกบ้านจีน เป็นศูนย์กลางการค้าขายของเมืองตากตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพื้นที่อยู่ติดแม่น้ำปิงและเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าจากที่ต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรอกบ้านจีนได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิด ชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นจึงทำให้ชุมชนเงียบเหงา
เมื่อประมาณ 10 ปี ที่แล้ว ชุมชนได้รวมตัวกันดูแลรักษาฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านเก่าที่ยังมีอยู่ในตรอกจีนให้มีชีวิตชีวา จึงทำให้ชุมชนนี้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก
บริเวณชุมชนตรอกบ้านจีน มีบ้านที่อนุรักษ์และปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อาทิ
- บ้านไม้หลังใหญ่ติดป้ายพรรคประชาธิปัตย์ บ้านของตระกูลไชยนันท์ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีระเบียงฉลุลายสวยงาม ปัจจุบันเป็นที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ของ ส.ส.เทอดศักดิ์ ไชยอนันต์ ด้านในมีห้องสมุดการเมืองที่สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้
- บ้านสีฟ้า ของตระกูลโสภโณดร เป็นอาคารไม้แบบตะวันตก 2 ชั้น ทรงขนมปังขิง ขอบประตู หน้าต่าง และเชิงชายหลังคาเป็นไม้ฉลุลายโปร่งแบบตะวันตก สร้างโดยหลวงบริรักษ์ประชากร ในอดีตบ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือข้าราชการต่างๆ ที่ต้องเดินทางโดยทางน้ำเพื่อติดต่อราชการขึ้นล่องระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร
- บ้าน(จีนทองอยู่) หลวงบริรักษ์ประชากร เป็นเรือนไทยหลายหลังติดกัน ลักษณะสถาปัตยกรรมจะเป็นแนวผสมผสานไทย ตะวันตกและจีน ทางเข้าโดดเด่นด้วยซุ้มประตูแบบตะวันตก มีบันได้โค้งเดินขึ้นด้านบน ภายในบ้านมีลวดลายสลักเสลาด้วยไม้ประดับสวยงาม และมีการสะสมของเก่าของโบราณ เช่น โถกระเบื้องเคลือบ ปิ่นโต ตะเกียง เครื่องถ้วยชามโบราณ ภาพเก่าเตียงโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปิดให้เข้าชมและมีห้องพักไว้บริการ
- ร้านจันทรประสิทธิ์โอสถ เป็นร้านมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี เจ้าของคนแรกของบ้านนึ้คือ จีนบุญจันทร์ แซ่เต็ง(สุประกอบ) เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในตรอกบ้านจีนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้เปิดร้านขายยาแผนโบราณใช้ชื่อว่า “จันทรประสิทธิ์โอสถ” และมีการสืบต่อภูมิปัญญาด้านยาแผนโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
- วัดสีตลาราม หรือ วัดน้ำหัก เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ คือ กุฏิพระและโบสถ์สร้างตามศิลปะยุโรป สร้างด้วยไม้แกะสลัก ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ที่มาข้อมูล : https://mgronline.com
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานตาก โทร. 055-514 341-3
วันและเวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ