กำลังโหลดข้อมูล

คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

มิวเซียมไทยแลนด์

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์

02 กรกฎาคม 2562

ชื่นชอบ 618

4,183 ผู้เข้าชม

แกลเลอรี

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์

       วัดชัยมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียกวว่า 'วังมุย' เป็นวัดเล็ก ๆ ในตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  แม้จะเป็นวัดเล็กแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เนื่องมาจากเจ้าอาวาสรูปแรกคือ ครูบาชุ่ม โพธิโก (พ.ศ. 2442- 2519) ท่านเป็นอริยสงฆ์ที่มีความรู้และเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวาง มีศิษยานุศิษย์มากมายที่ศรัทธาในบารมีของท่าน

         ครูบาชุ่ม โพธิโก นามเดิมว่า ชุ่ม  ปลาวิน กำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 ณ บ้านวังมุย ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยบุพการี ได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว จังหวัดลำพูน จนเมื่ออายุได้ 20 ปี สามเณรชุ่ม  ปลาวิน จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “โพธิโก” และได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้านปฏิบัติ  

         ครูบาชุ่มเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย  ท่านได้รับใช้และปวารณาตัวช่วยครูบาศรีวิชัยบำเพ็ญสาธาณประโยชน์แก่ชาวล้านนาไว้มากมาย อาทิ สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ สร้างสะพานศรีวิชัย ข้ามแม่น้ำปิง จากการที่ใกล้ชิดกับครูบาศรีวิชัยท่านจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาศรีวิชัย ในช่วงที่การก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้แล้วเสร็จ ครูบาศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาชุ่ม และสั่งไว้ว่า “เอาไว้เดินทางเทศนา”

         พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครูบาชุ่ม โพธิโก พระสงฆ์เกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านวังมุยและลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศเคารพนับถือ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ตั้งอยู่ภายในศาลาก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวสร้างใหม่  ภายในแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นห้องกระจก ภายในประดิษฐานรูปหล่อครูบาศรีวิชัย และครูบาชุ่มท่านั่งสมาธิขนาดเท่าจริง ซึ่งมีกระจกครอบทั้งสององค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง วางไว้ขนาบด้านซ้ายและขวาของโลงศพไม้ (เข้าใจว่าเป็นโลงของครูบาชุ่ม) และโต๊ะหมู่บูชา และอัฐิธาตุของครูบาชุ่ม  ส่วนด้านหน้าโต๊ะหมู่บูชา จัดวางรูปหล่อบูชาครูบาชุ่มขนาดเล็กจำนวนหลายสิบองค์  เหรียญครูบาชุ่ม ภาพถ่ายเก่าครูบาชุ่มในอิริยาบถต่างๆ  ภาพถ่ายเก่าปราสาทตอนประชุมเพลิง บาตรน้ำมนต์  สร้อยประคำ ผ้ายันต์ และเครื่องรางของขลังต่างๆ ที่เป็นของสะสมของวัดชัยมงคล  โดยเฉพาะยันต์สิบสองดอก ซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่เชื่อถือในความขลังในหมู่ทหารตำรวจ ตั้งแต่สมัยที่ครูบาชุ่มยังมีชีวิตอยู่ จนปัจจุบันยังมีคนมาขอเช่ากับลูกศิษย์ครูบาคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้รับการสืบทอดวิชาการทำยันต์จากครูบาชุ่ม

          ส่วนด้านหน้าห้องกระจกมีป้ายคำนมัสการของทั้งครูบาศรีวิชัย และครูบาชุ่ม เป็นภาษาบาลี พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน ทั้งส่วนบริเวณด้านนอกห้องกระจก เป็นพื้นที่โล่ง ใช้งานในลักษณะสำหรับกราบไหว้นมัสการรูปหล่อของครูบาศรีวิจัยและครูบาชุ่มที่อยู่ด้านใน  มิได้จัดแสดงสิ่งของอย่างเป็นระบบระเบียบมากนัก  มีเพียงอาสนะสงฆ์เก่าของวัด 2 ตัว และตู้ไม้เก่า 1 หลัง

 

บารมีพระสงฆ์ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

         ความกลัวและความวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนในชีวิต โดยเฉพาะความตายนั้น อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ความเชื่อในศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ พิธีกรรม รวมถึงเรื่องเครื่องรางของขลัง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน  ทำให้มั่นใจและเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น และลดความวิตกกังวล

         สำหรับเหล่าทหารตำรวจดูเหมือนอาชีพพวกเขา จะเสี่ยงภัยและเข้าใกล้กับความเป็นความตายมากกว่าอาชีพอื่นๆ  เมื่อเวลาปฏิบัติหน้าที่ ลำพังอาวุธคู่กายและความรู้ในวิชาชีพ ก็ไม่อาจขจัดความวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนในชีวิตได้หมดสิ้น  เครื่องรางของขลังจึงกลายเป็นวัตถุบูชาที่นิยมในกลุ่มคนพวกนี้

        เหตุที่ทำให้ครูบาชุ่ม โด่งดังเป็นที่เคารพศรัทธาในหมู่ตำรวจทหาร คือ เสื้อยันต์สิบสองดอกหรือยันต์ตระกรุดเสื้อ ที่หมู่ทหารของกองพลเสือดำ นำไปบูชาและบอกเล่าต่อกันมาถึงความศักดิ์สิทธิ์

        ในสมัยสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) รัฐบาลไทยได้ส่งกำลังพลเข้าร่วมรบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเวียดนามใต้ต่อสู้กับเวียดนามเหนือ  ในปี พ.ศ. 2511 ได้ส่งกำลังในรูปของกองพลทหารอาสาสมัคร ฉายา “กองพลเสือดำ” เข้าทำการรบ  เหล่าทหารอาสาสมัครในกองพลเสือดำรุ่นที่ 1 และ 2 จำนวนหลายสิบนาย ได้มากราบนมัสการหลวงปู่ชุ่ม เพื่อขอวัตถุมงคลไว้เป็นสิริมงคล และปกป้องคุ้มภัย ก่อนเดินทางเข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่งหลวงปู่ได้มอบยันต์สิบสองดอก ให้กับทหารทุกนาย

       เล่าสืบต่อกันมาว่า ทหารหน่วยกองพลเสือดำที่มียันต์ตระกรุดเสื้อ ต่างรอดพ้นจากภยันตรายกลับสู่ภูมิลำเนา หลังจากนั้น ทุกครั้งที่เหล่าทหารหาญรุ่นต่อไปจะออกเดินทางเข้าสู่สมรภูมิรบ  หลวงปู่ชุ่มจะได้รับนิมนต์ให้เป็นประธานปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่บริเวณชานชาลาสถานีรถไฟเชียงใหม่ทุกครั้ง  ทหารบางนายมาขอให้หลวงปู่ชุ่มอาบน้ำพระพุทธมนต์ถึงวัดวังมุยเลยก็มี

         จากนั้นมา ยันต์สิบสองดอก เป็นเครื่องรางของขลังชิ้นสำคัญ ที่บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นทหารตำรวจต่างก็มากราบนมัสการและขอบูชาเสื้อยันต์สิบสองดอกกับท่านครูบาชุ่ม  แม้ครูบาชุ่ม จะมรณภาพไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519  แต่ผู้คนก็ยังศรัทธาในบารมีของท่าน และมาเสาะหาวัตถุมงคลนี้จนถึงปัจจุบัน

         พ่อหนานปัน จินา อายุ 91 ปี  ชาวบ้านวังมุย  ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับครูบาชุ่ม ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำเสื้อยันต์สิบสองดอก เล่าให้ฟังว่า เสื้อยันต์สิบสองดอก ของครูบาชุ่ม ก็ยังเป็นวัตถุบูชาที่เหล่าทหารตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มาขอบูชากับทางวัดวังมุยจนถึงทุกวันนี้

 

ความทรงจำของหนานปัน  จินา ที่มีต่อครูบาชุ่ม

         พ่อหนานปัน  จินา  ศิษย์ก้นกุฏิของครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เป็นคนวังมุย และเป็นคนเดียวที่สืบทอดการทำตะกรุดเสื้อยันต์จากครูบาชุ่ม พ่อหนานย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ครูบาชุ่มมีเชื้อสายลัวะ เป็นผู้ที่มาปฏิสังขรณ์วัดวังมุย เนื่องจากเดิมวัดวังมุยเป็นวัดร้างและน้ำท่วม ท่านจึงย้ายวัดมาสร้าง ณ ที่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2464  และเล่าต่อว่า ครูบาชุ่มท่านมีคาถา เล่าเรียนมาจากวัดจอมกิตติ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่  พ่อหนานเคยเดินธุดงค์กับครูบาชุ่ม และได้มีโอกาสร่ำเรียนเขียนอ่านตัวเมือง ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเณร ส่วนวิชาการเขียนยันต์นั้นครูบาถ่ายทอดให้หนานปัน ตอนที่หนานปันสึกออกมาแล้ว

        “เปิ้นบ่สวก(ไม่ดุ) หน้าก็ยิ้มๆ อยู่  เปิ้นบ่กินเนื้อเหมือนครูบาศีลธรรม(ครูบาศรีวิชัย) เปิ้นยังบอกว่า อย่าเกเร อย่าจุ๊ ให้ถือศีลห้าอยู่ในตัว”

        หนานปันย้อนให้ฟังลักษณะของครูบาชุ่ม  และเล่าถึงความ “ข่าม” หรือขลังของเสื้อยันต์สิบสองดอกของครูบาชุ่มว่า  “จ่าสิทธิ์ เป็นทหาร เป็นคนที่อื่น มาได้เมียที่นี่  ตัวลายพร้อย ใส่เสื้อยันต์ แล้วโชว์ให้ยิงอยู่ตรงหน้าวิหาร กระสุนติดหน้าอก ไม่เข้า ยิง 6 ลูก โดนผิวหนังไม่เป็นไร มันเข้าเสื้อแต่ไม่ถึงเนื้อ มันร่วงลงไปในกระเป๋าเสื้อด้วย ทั้งทหารและชาวบ้านมาดูกันเต็มไปหมด... เสื้อยันต์นี่ก่อนจะใช้ ต้องลองใส่ก่อนสักชัวโมง ถ้ามันจี๊ดๆ จ๊อดๆ(คันๆ) ก็ให้ถอดออกก่อน แสดงว่ามีราง”

        ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องสืบทอดวิชาต่อจากหนานปัน เพราะหนานปันเล่าว่า ตอนนี้มีคนมาขอเรียนกับหนานปันหลายคนแล้ว  และหนานปันก็ยินดีถ่ายทอดวิชาให้ทุกคน แต่มีข้อแม้ว่าต้องเขียนตัวเมืองเป็น และคนใกล้ตัวอย่างลูกชายก็ถ่ายทอดวิชาให้หมดแล้ว

        แม้ว่าสังคมจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลหรือมนุษย์จะก้าวไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้สักกี่หนก็ตาม แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังกลัว(ตาย)และวิตกกังวลต่อความไม่มั่นคงและความเปลี่ยนแปลงในชีวิต  การเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจด้วยการมีวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขวัญจากเกจิอาจารย์หรือวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ผู้คนเลื่อมใสและศรัทธาในบารมี จะคงอยู่ต่อไปเพราะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์และสัมฤทธิ์ผล

บริหารจัดการ

วัดและชุมชน

ประเภทพิพิธภัณฑ์

วิถีชิวิต, วัฒนธรรม, ประเพณี, ภูมิปัญญา และ ศาสนา

แผนที่

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

วัดชัยมงคล เลขที่ 85 หมู่ 1 ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 51000
โทรศัพท์ : 085-041-4456
อีเมล : sukkasame941@gmail.com

วันและเวลาทำการ

เปิดทุกวัน

ค่าเข้าชม

ไม่เสียค่าเข้าชม

การเดินทาง

เดินทางผ่านหน้า รพ.ลำพูน ถนนลำพูน-สันป่าตอง เลี้ยวขวาตรงแยกไฟแดงข้างตลาดสดริมปิง ขับตรงประมาณ 1 กิโลเมตรเลี้ยวซ้าย ตรงจนถึงหน้าวัดศรีปิงชัย-ทุ่งป่าแก เลี้ยวขวา ขับตรงอีกประมาณ 2 กิโลเมตร วัดไชยมงคลจะอยู่ซ้ายมือ

เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

เนื้อหาสำหรับเด็ก

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

รับบัตรเครดิต

รับ
ไม่รับ

รับจองล่วงหน้า

กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า

ข้อมูลสำหรับผู้พิการ

-

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีลานสำหรับจอดรถ

0

แบ่งปัน

พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง