แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ในวัดศรีอุบลรัตนาราม ที่ด้านข้างของพระอุโบสถมีศาลา พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม เป็นอาคารไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้นขนาดใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาหอแจก ซึ่งหมายถึงศาลาการเปรียญ สถานที่ในการทำบุญทำทานของคนในสมัยก่อน สร้างขึ้นในสมัยพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) เป็นเจ้าอาวาส ในสมัยพระครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการรื้อถอนและมีการประกอบใหม่ด้วยเหตุผลในการจัดวางตำแหน่งอาคารต่าง ๆ ภายในวัด
และในปี 2545 ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม โดยชั้นบนของอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระประธานในหอแจก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร แกะสลักจากไม้กันเกรา หน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.40 เมตร ลงรัก ทาชาดสีแดงปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้ทั้งหลัง ที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์นี้ และมีบุษบกไม้ชนิดเดียวกันมีขนาดลดหลั่นกันลงมา กระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง และภายในบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสองบุษบก
นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ที่ส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะแบบล้านช้าง พบภายใต้ฐานพระพุทธรูปคราวเคลื่อนย้ายซ่อมแซมหอแจก
ตู้ลายรดน้ำปิดทอง ใช้ในการเก็บพระไตรปิฎก ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 รวมถึงตู้หนังสือซึ่งเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นทั้งเทคนิคแกะสลัก ลายรดน้ำ และลายกระแหนะรักปั้น ลงรักปิดทอง ที่สะท้อนศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หนังสือผูก ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม นับว่าเป็นแหล่งรวบรวมพระไตรปิฎก วรรณคดี และหนังสืออื่น ๆ ที่มีคุณค่า หาได้ยาก เช่น มูลกระจาย ที่มีเหลืออยู่ไม่กี่ฉบับในประเทศไทย
คัมภีร์ใบลาน ซึ่งจารคำสอนทางพุทธศาสนา ในสมัยโบราณบรรดาสรรพวิชาทั้งหลายจะบันทึกไว้ในใบลาน เรียกว่า "จาร" มีความเชื่อว่า การสร้างหนังสือ (คัมภีร์ใบลาน) ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจะได้อานิสงค์อันยิ่งใหญ่ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นอีสานจึงขวนขวายสร้างหนังสือ และเมื่อมีการสร้างคัมภีร์ใบลาน จำเป็นจะต้องมีการเก็บรักษาไว้ให้ดี จึงมีธรรมเนียมนิยมสร้างผ้าห่อหนังสือ หรือผ้าห่อคัมภีร์ใบลานถวายวัด โดยเหล่าหญิงสาวและแม่บ้านจะเป็นผู้ที่นำผ้าทอของตนเองมาห่อคัมภีร์ไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดงานศิลปหัตถกรรมขึ้นอย่างหนึ่งคือ ผ้าห่อคัมภีร์ สำหรับห่อหุ้มคัมภีร์ใบลาน ซึ่งผ้าห่อคัมภีร์นี้จะเกิดจากฝีมือของบรรดาหญิงสาวและแม่บ้านในชุมชนนั้น ๆ เนื่องจากในวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์ในการจารพระธรรมลงบนใบลาน ซึ่งถือว่าเป็นการได้อานิสงค์อย่างสูง
ดังนั้นผู้หญิงจึงต้องทดแทนด้วยการทอผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นมา โดยผู้ทอจะทำให้มีขนาดกว้างยาวพอดีกับ "ลานยาว" (ความยาวของใบลาน) และจะทออย่างประณีตงดงาม มีลาดลายสีสันตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้ทอ มีทั้งผ้าไหมและผ้าไหม ไม่จำกัด ลวดลาย และนำไปถวายเพื่อใช้ในการห่อคัมภีร์ และจะเป็นการได้อานิสงค์เท่าเทียมกับฝ่ายชาย
ผ้าห่อคัมภีร์ ซึ่งเดิมผู้คนแถบนี้นำมาถวายให้กับทางวัด เป็นของใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ นำมาถวายเพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนา พระภิกษุจำได้ใช้ห่อเก็บคัมภีร์รักษาไว้ให้อยู่ได้เนิ่นนาน ซึ่งมีทั้งผ้าซิ่นสำหรับสตรี มีครบทั้งส่วนหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นครบถ้วน บางผืนขาดวิ่นไปตามกาลเวลา แต่นับว่าเป็นแหล่งข้อมูลอันทรงคุณค่าสำหรับผู้สนใจศึกษาผ้าโบราณพื้นเมืองอีสาน เนื่องจากคาดว่ามีเกือบครบทุกประเภท
โหง่ หรือ ช่อฟ้า รวยระกา งานแกะสลักรูปหัวพญานาคมีหงอนสะบัดพลิ้วงดงาม เรียงซ้อนกันสวยงามเก่าแก่ ทำจากไม้ตะเคียน เดิมลงรักปิดทอง ประดับกระจก ศิลปะท้องถิ่นอุบลราชธานีโดยแท้ งดงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทรงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชม ในวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00 น. 16.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
-
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 045-241660, 087-2392559
โทรสาร : 043-873480
วันและเวลาทำการ
เปิดให้บริการวัน พุธ -อาทิตย์ เวลา 08.00 น. - 16.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง
วัดศรีอุบลรัตนารามตั้งอยู่บนถนนอุปราช ตรงข้ามศาลหลักเมือง และทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
-
ข้อมูลสำหรับผู้พิการ
-
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีที่จอดรถ