แกลเลอรี
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟท่าเสา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นมาพร้อมกับชุมชนท่าเสาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้คนในชุมชนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวไทยวน และชาวลาว ภายในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจ อาทิ
โบสถ์ ขนาดเล็กมีบานประตูไม้แกะสลัก เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย
หอไตร เป็นไม้ยกพื้น เสาเป็นปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปหน้ากาล รูปเทวดา ด้านบนสุดเป็นรูปครุฑยุดนาค
พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ชั้น 2 ภายในกุฏิเจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่าเสา เป็นอาคารขนาดใหญ่ จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัดใหญ่ท่าเสา มีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่
ยานมาศไม้แกะสลัก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สันนิษฐานว่าเป็นยานมาศสำหรับแห่พระ เป็นยานมาศที่สูงมาก หลังคานมีตัวนาค ฐานเป็นสิงห์สองชั้น แล้วเป็นที่นั่ง มีไม้แกะเป็นรูปบัวกระจังลอยตัวอยู่ทั้ง 4 มุม ด้านหลังพนักพิงเป็นรูปกลีบบัวลอยตัวขึ้นมาซ้อนกัน 2 กลีบ ตามผิวไม้พบร่องรอยการลงรักปิดทอง ยานมาศนี้เชื่อกันว่าเป็นยานมาศที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอุทิศถวายบูชาพระมหาธาตุเมืองฝาง และอาจใช้เป็นยานมาศประจำตัวพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) ก็เป็นได้ เพราะที่มาของยานมาศนี้สันนิษฐานว่า นำมาจากวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถในราวสมัยรัชกาลที่ 4
ธรรมาสน์เทศน์ เป็นธรรมาสน์ไม้แกะสลัก ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนบนหรือหลังคาธรรมาสน์เป็นทรงมณฑปยอดปราสาท ส่วนล่างประดับด้วยไม้แกะสลักรูปยักษ์แบก มีบันไดนาคเป็นทางขึ้นธรรมาสน์ ตัวธรรมาสน์แวดล้อมไปด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง เช่น ช้างและกวาง เป็นต้น
พระแผง เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ทำด้วยครั่ง นำมาติดเรียงกันบนแผงหรือแผ่นไม้แกะสลัก พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาและจัดแสดงพระแผงทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มากกว่า 10 แผง ส่วนบนเป็นกรอบหรือซุ้มรูปแบบต่างๆ เช่น รูปพญานาค ลายกนก และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนฐานหรือด้านล่างมีการแกะสลักเป็นรูปหรือลวดลายต่างๆ เช่น รูปเทวดาร่ายรำ รูปยักษ์แบก รูปหม้อน้ำและรูปแจกัน เป็นต้น
ตู้และหีบพระธรรม มีกว่า 10 หลัง แต่ละหลังเขียนลายรดน้ำปิดทอง และปิดทองล่องชาด ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ รามเกียรติ์ ป่าหิมพานต์และรูปทวารบาล
นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักจำนวนมาก เนื่องจากการสร้างพระพุทธไม้หรือพระเจ้าไม้ เป็นวัฒนธรรมที่นิยมของชาวล้านนาและล้านช้าง จึงทำให้ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปไม้แกะสลักฝีมือช่างท้องถิ่นจำนวนมาก นอกจากนี้มีพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ทำด้วยครั่ง ฆ้องและระฆังเก่า ใบเสมาหินชนวน ไม้แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยลายคราม และภาชนะทองเหลือง
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
ยานมาสไม้แกะสลัก
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0-5540 3093, 084-815-2380 (พระครูวินัยธรไทย สปญฺโญ)
วันและเวลาทำการ
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.30-16.00น.
ค่าเข้าชม
ไม่เก็บค่าเข้าชม ก่อนเข้าชมควรโทรศัพท์นัดหมายเจ้าอาวาสล่วงหน้า
การเดินทาง
1.โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) จนถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก จนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์
2.โดยรถประจำทาง มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7.30 ชั่วโมง
3.โดยรถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ทุกวัน
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีพื้นที่สำหรับจอดรถ